- หากอยากให้จีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 3 %
- ชี้ 8 เดือนแรก ส่งออกยังติดลบ 2.2%
- หลังเจอพิษค่าของเงินบาท-เศรษฐกิจโลกผันผวน
นายวุฒิพงษ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ การส่งออกของไทยขยายตัวลดลง 2.2% โดยเดือนส.ค.นี้การส่งออกขยายตัวลดลงถึง 4% ดังนั้นในช่วงที่เหลือปีนี้ หากการส่งออกยังติดลบเพิ่มจะกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีที่ตั้งเป้าให้เติบโต 3% ถ้าอยากให้จีดีพีขยายตัวที่ 3 % ส่งออกไทยทั้งปีต้องติดลบไม่เกิน 0.9% อย่างไรก็ตาม สศค.มองว่าในช่วงปลายปีการส่งออกน่าจะดีกว่าช่วงต้นปี
สำหรับภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนส.ค.นี้ ตามการรายงานของสศค.ตัวเลขที่สำคัญที่ชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณชะลอตัว เช่น ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่า(แวต) ติดลบ 5.3 % ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดเก็บ แวตจากสินค้านำเข้าที่ต่ำลง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออก และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ด้านเครื่องชี้การลงทุนภายในประเทศ หลายตัวมีสัญญาณชะลอตัวลง เช่น การลงทุนหมวดเครื่องมือ เครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาชะลอตัวที่ 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ 9.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงชะลอตัวที่ 12.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งการชะลอตัวลงส่วนหนึ่งเกิดจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเนื่องจากไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ
“ส่วนภาคการท่องเที่ยว มีอัตราการขยายตัวในระดับที่สูง ที่ช่วงเกื้อหนุนเศรษฐกิจ โดยเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 3.47 ล้านคน ขยายตัว 7.4% โดยมีนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวถึง 18.9% สร้างรายได้เข้าประเทศ 169,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 6.2%”
ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนส.ค. ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5% อัตราการว่างเงินอยู่ที่ 1% ของกำลังแรงงาน ส่วนหนี้สาธารณะ ณ เดือนก.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 41.5% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนที่อยู่ที่ไม่เกิน 60%