สศค.ยังไม่กล้าฟันธงเศรษฐกิจไทยโตตามเป้า 2.8%



  • หลังยังประเมินสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้
  • เตรียมประเมินจีดีพีใหม่เม.ย.นี้
  • งบปี 63 ใช้เร็วกว่า1เดิมดีต่อเศรษฐกิจไทย

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จะเติบโตถึง 2.8% ตามที่สศค.เคยคาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะปัจจัยทั้งภายในและภายนอกยังส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถประเมินความรุนแรงได้และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่

“สศค.จะรอดูสถานการณ์ต่างๆ ประมาณ  2 เดือน ก่อนจะมีการพิจารณาปรับจีดีพีอีกครั้งในเดือนเม.ย.63 แต่คาดว่าจะปรับตัวลงไม่มาก เพราะปัจจุบันพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ประกาศใช้แล้ว คาดว่าจะทำให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วกว่าเดิม 1 เดือน จากเดิมคาดว่างบประมาณจะสามารถใช้ได้ในไตรมาส 2   รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 31.7-37.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ  ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย”

ส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.63 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์ ที่กลับมาขยายตัว 0.4% หลังจากติดลบมา 6 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.9 เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบการส่งออกด้วย

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพียง 38.1 ล้านคน จากเดิมที่สศค.เคยประเมินไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางในปีนี้ 41.5 ล้านคน  โดยท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทยหดตัวลง 3.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งมีส่วนทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน ม.ค.63 มีมูลค่า 1,920 ล้านบาท ลดลง 1.1 % จากปีที่แล้ว 

 ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัว 2.2% จากที่แล้ว จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว 4.6% จากปีที่แล้วจากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ แอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น 

 “ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ดับ 92.2 ตามการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เป็นต้น”