“สมคิด”-“สุริยะ”สุดปลื้ม กนอ.ประเดิมลงนาม เดินหน้าก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่1)



  • มูลค่า 4.79 หมื่นล้านบาท 1 ใน 5 บิ๊กโปรเจกต์
  • ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลาง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • “สมคิด”แย้มไฮสปีดเทรนด์อาจลงนามร่วมซีพีก่อน 15 ต.ค.

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ. รมว.อุตสาหกรรม ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (ร่วมทุนระหว่างบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) 70% และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด 30%)เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส3(ช่วงที่1)
นายสมคิด กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ถือเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ได้มีการลงนามร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะประมูลเป็นโครงการแรก เพื่อนำร่องและเป็นการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูงและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ในอนาคต ที่ปัจจุบันมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั่วโลกมั่นใจต่อประเทศไทย

“ การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และอีก4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่เหลือของอีอีซี ก็คาดหวังว่าจะมีการทยอยลงนามต่อไป ผมก็คาดหวังว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีการลงนามในสัญญาระหว่างเอกชนกับรัฐบาลได้ก่อนวันที่ 15 ต.ค.นี้ และยืนยันว่าผมไม่ได้กดดัน กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตรหรือกลุ่มซีพี.ให้ลงนามแต่อย่างใด เพราะแต่ละโครงการมีขนาดใหญ่จะทำอะไรก็ต้องรอบคอบถ้าทำไม่ได้ก็จะเป็นการทำลายความเชื่อถือของนักลงทุน”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 (ช่วงที่ 1 ) มีมูลค่าลงทุน 47,900 ล้านบาท การลงนามครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการและขยายพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของประเทศ ไทยเพราะท่าเรือมาบตาพุดระยะ 1-2 ที่ดำเนินการได้ใช้เต็มศักยภาพแล้วจึงต้องดำเนินการระยะที่ 3 (ช่วงที่1)เพื่อรองรับการขนถ่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศไทย ที่จะต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่ากนอ. กล่าวว่า หลังการลงนามแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตดำเนินการที่สำคัญ 4 ใบได้แก่ ใบอนุญาตถมทะเลกับกรมเจ้าท่าขอโดยกนอ. ที่เหลือขอโดยเอกชนได้แก่ ใบอนุญาตสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ(ท่าเรือก๊าซธรรมชาติ )จากกรมเจ้าท่า ใบอนุญาตนำเข้าแ ละใบอนุญาตแปรรสภาพแอลเอ็นจี จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นต้น

สำหรับการพัฒนามาบตาพุดระยะที่ 3ในช่วงที่ 1 เอกชนที่ชนะการประมูล จะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) รวม 200 ไร่ มูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซธรรมชาติ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ ได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท . กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ กล่าวว่า กัลฟ์ จะทำการกู้เงินกับสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลักเพื่อลงทุนในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 13,000 ล้านบาท และจะมีการทะยอยนำเข้าแอลเอ็นจีระยะ 5 ปีข้างหน้ารวม 5 ล้านตันต่อปีและตลอดสัญญา 30 ปีจะมีการนำเข้ารวม 20 ล้านตัน