“สมคิด” ดีใจ ไอเอ็มดี ขยับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยขึ้นมา 5 อันดับ



สศช.แถลงขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยปีนี้ ดีขึ้น 5 อันดับ จากเดิมอันดับที่ 30 ขึ้นมาอยู่ที่ 25 แต่ยังอยู่อันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ สิงคโปร์ คว้าแชมป์อันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ “ทศพร” ชี้อีก 5-10 ปี ขีดความ สามารถในการแข่งขันของไทยจะดีขึ้น และมีโอกาสแซงมาเลเซียได้หลังจากโครงสร้างพื้นฐานและอีอีซี ดำเนินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้าน “บิ๊กตู่” ยันจะให้สามารถสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภา พัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือทีเอ็มเอ (TMA) แถลงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 พบว่า เขตเศรษฐกิจที่มีอัน ดับสูงสุด 5 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับ 1 แทนที่สหรัฐฯ ซึ่งลดลงไปอยู่ที่อันดับ 3 รองลงมาคือ อันดับ2 คือ ฮ่องกง อันดับ 4 สวิตเซอร์แลนด์ และอันดับ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากทั้งหมด 63 ประเทศ

ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 25 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 30 ซึ่งถือมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการปรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันมาอยู่ที่อันดับ 25 ดีขึ้นกว่าเดิมถึง 5 ขั้น และถือเป็นอันดับที่ 3 ในเขตเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน โดยมีสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนและของโลก มาเลเซียอันดับคงที่อยู่ที่ 22 เท่ากับปีปีก่อน ขณะที่ อินโดนีเซียอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 43 เป็น 32 และฟิลิปปินส์ จากอันดับที่ 50 เป็น 46

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.สภาวะเศรษฐกิจ 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ4.โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในจำนวนนี้ มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.สภาวะเศรษฐกิจ ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 8 จากเดิมอันดับ 10 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 20 จากเดิมอันดับ 22  และ 3.โครงสร้างพื้นฐาน ขึ้นมาอยู่ที่ 45 จากเดิมอันดับ 48 ขณะที่ประ สิทธิภาพของภาคธุรกิจลดลง 2 อันดับ มาอยู่ที่ 27 จากเดิมอันดับที่ 25

“ผลการจัดอันดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทย ดีขึ้นถึง 5 อันดับ ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและภาคเอกชนมีการพัฒนาและลงทุนด้านต่างๆ อย่างเนื่อง โดยเฉพาะด้านภาวะ เศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 2 อันดับ ในด้านเศรษฐกิจนั้น ปรากฏว่าด้านการลงทุนต่าง ประ เทศมีอันดับที่ดีขึ้นมาก มาอยู่ที่ 21 จากเดิม 37 การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดีขึ้นถึง 4 อัน ดับ จาก 36 มาอยู่ที่อันดับ 32 ซึ่งเป็นผลจากการที่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ผ่านกฎหมายที่สำคัญๆ ถึง 456 ฉบับ และรัฐบาลส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ จึงทำให้การจัดอันดับของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ส่วนผลการจัดอันด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ลดลง 2 อันดับ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ และความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รุน แรงและรวดเร็ว หรือ Disruption  ยังไม่ดีพอ รัฐบาลจึงต้องทำให้ภาคเอกชนปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล    

ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยนั้น แม้อันดับดีขึ้นก็ตาม แต่ในกลุ่มทางด้านการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่อันดับ 56 เท่ากับปีที่แล้ว ขณะที่ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 58 จากปีที่แล้ว อยู่ที่อันดับ 55 แสดงให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของไทยยังไม่มีปัญหา จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการศึกษาและปรับวิธีการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาแรงงานฝีมือให้ได้ตรงตามความต้องของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 10 กลุ่มอุต สาหกรรมเป้า โดย สศช.จะรวบรวมประเด็นเหล่านี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป และเชื่อว่ามีความต่อเนื่องในด้านนโยบายจะส่งผลให้การจัดอันดับของไทยดีขึ้นด้วย ส่วนทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ดีเพราะประชากรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมาก ทำให้อายุเฉลี่ยนของคนไทยน้อยลง

“เป้าหมายการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดเป้าหมายขึ้นเป็นที่ 2 ในกลุ่มอาเซียนภายใน 5- 10 ปีแซงหน้ามาเลเซีย และหากดูจากผลการจัดอันบใน 4 ด้านเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ไทยมีอันดับที่ดีกว่า 2 ด้านคือ สภาวะเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของภาครัฐ แต่อีก 2 ด้านคือ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ยังด้อยกว่ามาเลเซีย ซึ่งประเด็นนี้ ต้องรอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยและโครงการอีอีซีที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ เสร็จเรียบร้อยในอีก 5-6 ปี อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาเลเซียก็ไม่ได้หยุดพัฒนาประเทศเหมือนกัน”

ด้าน น.ส.วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับเป็นอันดับที่ 25 สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี แต่อันดับที่ 25 นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเคยได้ เพราะก่อนหน้านี้ ไทยเคยอยู่อันดับที่ 25 จากประเทศสมาชิก 50 ประเทศ คิดเป็น 47% ซึ่งในปีนี้ อันดับที่ขยับมาอยู่ที่ 25 จาก 63 ประเทศคิดเป็น 39% แสดงให้เห็นว่าขีดความสามารถของไทยดีขึ้นโดย เฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ขณะที่ ประเทศพัฒนาแล้วมีการลงทุนทางด้านดังกล่าวถึง 4%ของจีดีพี

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรีพอใจผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยที่มีอันดับดีขึ้นโดยรัฐบาลยังต้องให้การสนับ สนุนและเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจต่อไป พร้อมกับเร่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จึงทำให้อันดับเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศดีขึ้นมาก เช่นเดียวกับการปรับปรุงกระบวนการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุร กิจผ่านระบบดิจิทัลทำให้การบริการรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า สิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ร่วมมือกันยกระดับการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลเร่งส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ และพัฒนาคนให้พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไอเอ็มดีครั้งนี้มีความสำคัญสูงสุดในโลก เพราะดูจากปัจจัยหลายๆด้าน  และการที่ไทยขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 สะท้อนให้เห็นว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาการทำงานของรัฐเริ่มส่งผลออกมาเป็นรูปธรรม และมาอยู่อันดับที่ 25ในรอบ 15 ปีเป็นข่าวที่น่ายินดีมาก โดยเฉพาะด้านสภาวะเศรษฐกิจ ไทยอยู่อันดับที่ 8จาก 63 เขตเศรษฐกิจ ดีที่สุดเท่าที่มีมา และ ประสิทธิภาพภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานก็ดีขึ้น ขณะที่ ประสิทธิภาพ ของภาคเอกชนถดถอย  เพราะฉะนั้นเอกชนต้องเร่งเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี  ถ้าหากปรับตัวช้าจะยิ่งยากมากขึ้น

“ส่วนที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 22 และไทยอยู่ในอันดับที่ 25 นั้น ผมมองว่าไม่ต้องรอไปถึง 5-10 ปี ประเทศไทยก็สามารถแซงมาเลเซียได้ถ้าหากเรา ไม่เจอปัญหาเรื่องการเมืองและมีความต่อเนื่องในการลงทุน จะเห็นได้ว่ามาเลเซียอยู่ในอันดับ 22 มานานแล้ว ไม่ค่อยขยับ แต่ที่น่าสนใจคืออินโดนีเซียขึ้นมาถึง 17 อันดับพัฒนาเร็วมากฉะนั้นใครจะอยู่นิ่งไม่ได้ มาดูการส่งออกของเราที่ถดถอยเป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีสินค้าไม่กี่ตัวและ ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย และมาเจอสงครามการค้าอีกก็ทำอะไรได้ลำบาก ฉะนั้นถ้าหากไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ในอนาคตก็แข่งขันและสู้ไม่ได้”