“สมคิด”เร่ง สศช.เปิดสถาบันนโยบายสาธารณะ ปลุกคนสศช.ทำงานให้มีพลังเหมือนช่วงรัฐบาล”เปรม” กล้าบี้รัฐบาลที่ทำผิด ขณะที่ “ทศพร”จัดวางโครงสร้างสถาบันใหม่ให้เป็นอาวุธลับของ สศช.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มอบหมายนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์)รีบเปิดตัวสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบให้งบประมาณไปแล้ว เพื่อมาเสริมการทำงานของสศช. ขณะที่การทำงานของ สศช.ต้องเสียงดังและมีพลัง ให้เหมือนสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีเลขาธิการ สศช.นายเสนาะ อูนากูล ยืนอยู่ข้างๆ เพื่อให้คำปรึกษาเสมอ “สศช.ต้องบอกได้ว่าการทำโครงการไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ต้องกลับไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้ ต้องยืนให้แข็ง ถ้าผมทำไม่ดีต้องบี้ผมเลย และต้องคอยรายงาน ครม.ถึงความก้าวหน้าการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลว่าตรงไหนไม่ก้าวหน้า เพราะอะไร ติดที่กระทรวงหรือหน่วยงานไหนไม่ทำงาน เพื่อรัฐบาลจะได้ตามงานถูก เช่น การไปรายงานนายกรัฐมนตรี เรื่อง World Competitiveness Center ของ International Institute for Management (IMD) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปี 2561 มาเป็นอันดับที่ 25 ในปี 2562 นั้น ไม่ใช่บอกว่าขึ้นมา 5อันดับแล้วจบ แต่ต้องบอกด้วยว่า ส่วนไหนที่ยังเป็นปัญหาและต้องแก้ไขอย่างไร ถึงจะดีกว่านี้อีก”
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาจะทำหน้าที่ทำนายแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจและวางนโยบายสำคัญใน 5-10 ปีข้างหน้าให้กับประเทศสามารถเตรียมความพร้อมและมีนโยบายที่เหมาะสม มีโครงสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1.สำนักคลังสมองเศรษฐกิจ (Economic Intelligence) ทำหน้าที่ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค และคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างมียุทธศาสตร์ 2.สำนักวิเคราะห์นโยบาย (Policy Analysis) มีหน้าที่วิเคราะห์นโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต ได้แก่ ที่อยู่อาศัยสำหรับโลกอนาคต งานในอนาคต สังคมผู้สูงอายุ การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศในกลุ่ม CLMVT และการวิจัยนโยบายที่เหมาะสมเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและทดลองนโยบายใหม่ๆ (Policy labs)ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วและรุนแรง (disruptive technology) เมืองใหม่หรือสมาร์ทซิตี้ การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่การเป็นเอสเอ็มอีดิจิทัล การลดความยกจนและสร้างความเท่าเทียมในสังคม เป็นต้น
นายสรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา กล่าวว่า ได้รับโจทย์จาก เลขาธิการ สศช.ว่า สศช.เป็นเรือรบลำใหญ่หรือแพลตฟอร์มใหญ่ที่วิ่งไปข้างหน้าอยู่แล้วและมีโมเมนตัมหรือพละกำลังที่ค่อนข้างใหญ่ สถาบันที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นเหมือนเรือลำเล็กหรือสปีดโบ๊ทสามารถที่จะเป็นอาวุธลับ ของ สศช.ในการดำเนินโครงการต่างๆ ถ้า สศช.ทำเองอาจทำได้ช้า หรือมีความห่วงบางอย่างอยู่ ซึ่งการเป็นอาวุธลับของ สศช.ประกอบไปด้วย 3เรื่องใหญ่ คือ1. ใช้เทคนิควิธีการหรือกระบวนการใหม่ๆ และเครื่องมือในการพัฒนา ที่ภาคธุรกิจรุ่นใหม่ใช้กันมาพอสมควรแล้วที่เป็นความยืนหยุ่นหรือ System Dynamic ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI หรือ เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ที่ทำให้การพัฒนารวดเร็วขึ้น ให้เราสามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือใหม่ใหม่ได้เยอะขึ้น 2. เป็นการเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่หรือคนแปลกๆ คนรุ่นใหม่ที่ฉลาดมากๆ ปกติไม่กลับมาเมืองไทยแล้ว เมื่อ สศช.เปิดเวทีใหม่ๆให้เล่นเขาก็ยินดีกลับมาช่วยประเทศและเชื่อมโยงกับภาคเอกชน สถาบันนี้จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อม จากกลไกเดิมทำให้เขาเกรงกลัวไม่กล้าเดินเข้ามา 3.จากที่ สศช.เป็นเรือรบลำใหญ่มาก มีตอปิโดอยู่หลายลูก แต่ต้องคิดอย่างรอบคอบ ถ้าเป็นเรือลำเล็ก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีความรวดเร็ว อาจจะยังไม่ต้องการนโยบายที่สมบูรณ์แบบ มีซัก 80-85%ก็ไปทดลองดูก่อน รีบเรียนรู้แล้วมีคำตอบมาบอกยานแม่ได้ ก็จะเป็นอาวุธลับของสศช.ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่สศช.ออกหน้าเองไม่เหมาะ ก็อาจจะใช้หรือเรือลำเล็กเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือในการทำงาน