

- พาณิชย์ชี้พ.ค.ติดลบสูงสุดรอบ34เดือน
- เหตุสงครามการค้า-บาทแข็งพ่นพิษหนัก
- แนะรัฐบาลใหม่ลุยเอฟทีเอสร้างแต้มต่อ
พาณิชย์ เผยมูลค่าส่งออกพ.ค.62 ติดลบ 5.79% สูงสุดในรอบ 34 เดือน ส่วน 5 เดือนติดลบ 2.7% หลังสงครามการค้า-เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ-บาทแข็ง พ่นพิษ เฉพาะผลกระทบส่งครามการค้า ทำมูลค่าหายวับ 135 ล้านเหรียญฯ แนะรัฐบาลใหม่เร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ หวังสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง เน้นส่งออกสินค้าบริการ และดึงลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมลุยแผนดันส่งออกเต็มที่ มั่นใจทั้งปีโตได้ 3% ตามเป้า


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนพ.ค.62 การส่งออกมีมูลค่า 21,018 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.79% เทียบกับเดือนพ.ค.61 ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ 34 เดือนนับจากเดือนก.ค.59 ที่ติดลบถึง 6.27% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญฯ ลดลง 0.64% มีดุลการค้าเกินดุล 181.5 ล้านเหรียญฯ สำหรับในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 62 การส่งออกมีมูลค่า 101,561.3 ล้านเหรียญฯ ลดลง 2.70% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 100,830.3 ล้านเหรียญฯ ลดลง 0.99% เกินดุลการค้า 731 ล้านเหรียญฯ


”มูลค่าการส่งออกเดือนพ.ค.ลดลงมาจากผลกระทบของสงครามการค้า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป การถอนตัวออกจากสภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักรยังไม่ยุติ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก แต่ถือว่า ยังดีที่การส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อย่างสิงคโปร์ ติดลบมากถึง 17% นอกจากนี้ ยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดเดิม อย่างสหรัฐฯ และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา รัสเซียและซีไอเอส โดยสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มออาหารและเครื่องดื่มยังขยายตัวได้ดีมาก”
สำหรับในเดือนพ.ค.62 ผลกระทบของสงครามการค้า ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยหายไป 135 ล้านเหรียญฯ หรือ 0.64% ของมูลค่าการส่งออกเดือนพ.ค.62 เพราะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนลดลงมากถึง 281ล้านเหรียญฯ หรือลดลง 4.3% จากการลดลงของแผงวงจร เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงมูลค่าส่งออกสินค้าที่สหรัฐฯใช้มาตรการเซฟการ์ดขึ้นภาษีนำเข้า ทั้งแผงโซลาเซลล์ และเครื่องซักผ้า ลดลงมาก แม้สินค้าบางรายการที่ส่งออกไปสหรัฐฯเพื่อทดแทนสินค้าจีน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 126.8 ล้านเหรียญฯ
อย่างไรก็ตาม ต้องการเสนอให้รัฐบาลใหม่ เร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะอียู ไม่เช่นนั้น ไทยจะเสียเปรียบการแข่งขันส่งออกกับประเทศคู่แข่ง รวมถึงผลักดันการส่งออกภาคบริการอย่างจริงจัง และดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ไม่เช่นนั้น สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยจะล้าสมัย และเสียศักยภาพด้านการแข่งขัน
ด้านน.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมได้จัดทำแผน และกิจกรรมผลักดันการส่งออกแบบลงลึกในแต่ละภูมิภาคเสร็จแล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยจะเริ่มเห็นผลสำเร็จได้ตั้งแต่เดือนก.ค.62 เป็นต้นไป หวังว่า น่าจะทำให้มูลค่าส่งออกตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไปได้ไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านเหรียญฯ และจะทำให้มูลค่าส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 3% จากปี 61 หรือคิดเป็นมูลค่า 260,184 ล้านเหรียญฯ