

- ศึกษาข้อดีข้อเสียผลกระทบให้รอบด้าน
- หากใช้ “ปีงบประมาณหรือปีปฏิทิน”
- หนุนอปท.ทั่วประเทศ ลงทุน PPP ไม่ง้องบรัฐ
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการที่รัฐวิสาหกิจมีการนับรอบปีบัญชีที่แตกต่างกัน ทั้งรอบปีงบประมาณ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.ของทุกปี รอบปีปฏิทิน ที่จะเริ่มนับตั้งแต่ 1 ม.ค.เป็นต้นไป รวมถึงรอบปีทางการเกษตร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป ทำให้การดำเนินงานโครงการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจไม่ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
ดังนั้นจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่สคร.ศึกษาว่าถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนให้รัฐวิสาหกิจมาใช้รอบปีบัญชีเพียงรูปแบบเดียว ระหว่างรอบปีบัญชีปีงบประมาณหรือรอบบัญชีปีปฏิทินอย่างหนึ่งอย่างใดจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างต่อการดำเนินการงานของรัฐวิสาหกิจ และแนวทางที่เลือกมีผลดีหรือผลเสียมากน้อยเพียงใด ก่อนจะให้หารือกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ
“เบื้องต้นฝ่ายนโยบาย และฝ่ายที่มีหน้าที่ในการดำเนินงานและติดตามการทำงานของรัฐวิสาหกิจ มองว่าน่าจะมีการแก้ไขรอบบัญชีในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจใหม่ เพราะการใช้รอบบัญชีที่แตกต่างกันของรัฐวิสาหกิจ อาจเป็นปัญหาและอุปสรรคในอนาคตได้ โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดให้โครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund:TFFIF) มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนร่วมกับรัฐวิสาหกิจได้”
นอกจากนี้สคร.จะเสนอให้โครงการต่างๆ ขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ดำเนินการในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอเงินงบประมาณ หรือต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อดำเนินโครงการ แต่จะยึดหลักเกณฑ์และเงื่อนตามที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 กำหนดเอาไว้อย่างเข้มข้น