ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจประเมินอิทธิพลพายุ “วิภา” ส่งน้ำเข้าหลายอ่างเก็บน้ำ



  • แม่น้ำสายหลักหลายแห่งได้รับอานิสงฆ์น้ำเพิ่มขึ้น
  • ตีกรอบพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหล จ.เชียงราย พะเยา น่าน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจได้ติดตามและประเมินสถานการณ์พายุโซนร้อน “วิภา”บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กม.ต่อ ชม. เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 20 กม.ต่อ ชม. คาดว่าในวันที่ 2 ส.ค. 62 พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ซึ่งจะทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ เชียงราย พะเยา น่าน จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักสะสม ซึ่งจากการคาดการณ์วันนี้จะเกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือและอีสานตอนบนบริเวณ จ.เชียงราย พะเยา น่านแพร่ อุตรดิตถ์ เลย เพชรบูณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี และแนวโน้มช่วงวันที่ 2 – 3 ส.ค. 62 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย อ.ปง อ.จุน จ.พะเยา อ.ท่าวังผา อ.ปัว อ.สันติสุข จ.น่าน ขณะที่ปริมาณฝนสะสม 3 วันสูงสุด บริเวณ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย 218 มม. อ.ปง จ.พะเยา 162 มม. อ.บ่อเกลือ 190 อ.ปัว 214 จ.น่าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ได้มีการแจ้งเตือนน้ำหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ จ.น่าน 6 หมู่บ้าน จ.พะเยา 4 หมู่บ้าน การเตรียมพร้อม จ.เชียงราย 1 หมู่บ้าน จ.น่าน 93 หมู่บ้าน จ.พะเยา 9 หมู่บ้าน จ.แพร่ 2 หมู่บ้าน และ เฝ้าระวัง จ.เชียงราย 11 หมู่บ้าน จ.แพร่ 3 หมู่บ้าน จ.น่าน 28 หมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของพายุนี้จะทำให้เกิดฝนตกบริเวณแนวปะทะลมหน้าเขา ซึ่งจะส่งผลดีที่จะส่งผลทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ กลางและเล็กในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มากขึ้น ซึ่ง ศูนย์ฯ ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯสะสม 3 วันล่วงหน้า พบว่า มีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้นอาทิ เขื่อนสิริกิติ์ 27 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนภูมิพล 10 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนศรีนครินทร์ 35 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนวชิราลงกรณ์ 48 ล้าน ลบ.ม.เป็นต้น โดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจจะมีการติดตามแนวโน้มปริมาณฝนไหลเข้าอ่างฯ เพื่อปรับแผนการเก็กกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยน้อยกว่า 30% ของความจุมีทั้งสิ้น 21 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนห้วยหลวง หนองหาร เขื่อนสิรินธร เขื่อนขุนด่านปราการชล ขนาดกลาง 162 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 110 แห่ง ภาคตะวันออก 12 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศ แม่น้ำสายหลักระดับน้ำอยู่ในสภาวะน้ำน้อย แต่เนื่องจากมีมีฝนตกสะสมในบางพื้นที่ ส่งผลให้น้ำในลำน้ำสายหลักบางสายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แม่น้ำชี เป็นต้น

“ขณะนี้สภาพอากาศ แนวโน้มฝน และความชื้นในอากาศมีเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างฯ โดยเมื่อวานนี้ (31 ก.ค.62) ได้ปฏิบัติการในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ และ จ.บุรีรัมย์ ขณะเดียวกัน สทนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานเร่งกักเก็บเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำและเติมน้ำต้นทุนให้พื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด เตรียมแผนสำรองขุดลอกทำท่อเชื่อมต่อเพื่อให้ระบบประปาบริหารจัดการน้ำได้ไปถึงต้นเดือนกันยายน รวมทั้งเตรียมประเมินปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนหลังจากสิ้นเดือนสิงหาคมอีกครั้ง” นายสำเริง กล่าว.