- ยุติสัญญาการจ้างบริหารกับกลุ่มโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
- บริหารมา 20 ปี ไม่มีปันผลให้ผู้ถือหุ้น
- โรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ พร้อมยื่นอุทธรณ์
สำนักข่าว ทราเวล อิมแพ็ค นิวส์ไวร์ (Travel Impact Newswire) รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ศาลแพ่งธนบุรี ได้มีคำสั่งให้ผู้ถือหุ้นไทยภายใต้การนำของตระกูลภัทรประสิทธิ์ สามารถยุติข้อตกลงการบริหารจัดการโรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพฯ ที่บริหารโดยกลุ่มโรงแรม ฮ่องกง-เซียงไฮ้ มานานกว่า 20 ปีได้ ขณะที่ทางผู้บริหารโรงแรมฮ่องกง-เซียงไฮ้ เตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าว
นายประพันธ์ ภัทรประสิทธิ์และนายประสงค์ ภัทรประสิทธิ์ ในฐานะตัวแทนของครอบครัวภัทรประสิทธิ์ ได้ยื่นฟ้อง บริษัท HSH-Siam Chaophraya Holdings จำกัด บริษัทในเครือของกลุ่มโรงแรมฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ และ เจ้าของโรงแรมเพนนินซุล่า กรุงเทพ โดยระบุว่าการบริหารของทั้งสองสร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างร้ายแรงและมีผลกระทบโดยตรงต่อครอบครัวภัทรประสิทธิ์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นอยู่ในโรงแรมดังกล่าว
การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ได้คัดค้านมติของคณะกรรมการในการให้ยกเลิกข้อตกลงในการบริหารจัดการโรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ จากกลุ่มโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตและมีฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่จะบริหารจัดการให้บริษัทมีกำไรสำหรับผู้ถือหุ้น ทำให้เราตัดสินใจยกเลิกสัญญาการบริหารจัดการของบริษัทดังกล่าว ผลการดำเนินงานของโรงแรมเพนนิซูล่า กรุงเทพ ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2562 โรงแรมรายงานว่ามีผู้เข้าพักเฉลี่ย ร้อยละ 70 ราคาห้องพักเฉลี่ย 7,050 บาทและมีรายได้ต่อห้องโดยเฉลี่ย 4,950 บาทต่อคืน โดยตลาดหลักมาจาก จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น
“ น่าเสียดายที่การยกเลิกสัญญาการจัดการ เป็นการประชุมผ่านคณะกรรมการบริษัท ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะผ่านการพิจารณาเพราะทางกลุ่มโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 50 ทำให้ทางกลุ่มโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ สามารถที่จะมีความเห็นคัดค้านมติของที่ประชุมในการยกเลิกสัญญา ขณะที่การบริหารงานที่ผ่านมาของกลุ่มไม่ได้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาสู่ผู้ถือหุ้น” นายประดิษฐ์ กล่าว
นายประดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกลุ่มโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป็นทั้งผู้ประกอบการโรงแรมรวมถึงการเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมรับผิดชอบในการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน ทำให้การให้ผลตอบแทนจะให้ผลตอบแทนกับผู้บริหารสูง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น
โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ เปิดในปี 2541 อยู่ตรงข้ามกับโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ลอันเป็นตำนานของกรุงเทพฯบนแม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมริมแม่น้ำ 37 ชั้นมีห้องพัก 370 ห้องและห้องชุดและร้านอาหารสี่แห่ง
นายประดิษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลไทยในปี 2551 กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงแรมตั้งอยู่บนที่ดินริมฝั่งแม่น้ำที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองนี้ แต่กลับไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ที่ผ่านมาเราอดทนกับการบริหารจัดการของหุ้นส่วนจากฮ่องกงมาตลอดแต่ตอนนี้ถึงเวลาที่บริษัทจะต้องเปลี่ยนผู้บริหาร ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกิดมานานแล้ว จนกระทั่งต้องส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาล
ตระกูลภัทรประสิทธิ์ เป็นตระกูลคหบดีใหญ่ที่เป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกอย่างเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าที่เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพมหานครหลายแห่งอาทิ เดอะ เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน
นายประดิษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า การร่วมทุนของตระกูลภัทรประสิทธิ์กับโรงแรมในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้และกลุ่มโรงแรมเพนนินซูล่าเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังอย่างมากสำหรับตระกูลภัทรประสิทธิ์
“ที่ผ่านมาเราได้รับคำเตือนจากเพื่อน ๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนครั้งนี้ แต่เราก็ไม่เชื่อจนกระทั่งต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น”
”โรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50 ในโรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ ผ่าน บริษัท ย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดและดำเนินกิจการโรงแรมมาตั้งแต่ปี 2541 ศาลแพ่งธนบุรีตัดสินว่า บริษัท ย่อยไม่ควรได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการยกเลิกสัญญาในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562
ในขณะที่ ลินน์ มูฮอลแลนด์ (Lynne Mulholland) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรของกลุ่มโรงแรมในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ได้ให้ความเห็นต่อคำสั่งศาลทีเกิดขึ้นต่อผู้สื่อข่าว ทางอีเมล์ว่า “ เราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินและจะยื่นอุทธรณ์ เนื่องจาก ข้อตกลงการจัดการโรงแรมเป็นส่วนสำคัญของการร่วมทุนของเราและได้รับการยอมรับและตกลงร่วมกันเป็นเวลา 30 ปีและยังคงมีผลผูกพันตามกฎหมายและบังคับใช้ในการบริหาร โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ และคำตัดสินดังกล่าวไม่มีผลต่อการดำเนินงานของโรงแรมเพนนินซูล่าในปัจจุบัน”
ส่วนประเด็นคำถามเรื่องผลการดำเนินงานและการไม่จ่ายปันผลต่อผู้ถือหุ้น มูฮอลแลนด์ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวแต่อย่างใด