นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงการดำเนินการในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินว่า โครงการดังกล่าวมีความเสี่ยงมากภาครัฐควรที่จะเข้ามารับความเสี่ยงร่วมกับเอกชนนั้น ในเรื่องนี้มองว่า ในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ หรือ RFP ได้ระบุชัดว่า เอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงนี้เอง โดยกระทรวงคมนาคมและ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ยืนยันที่จะดำเนินการตาม RFP และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้นอย่างไรก็ตามยืนยันว่าการดำเนินการในโครงการจะยังคงเป็นกำหนดการเดิมที่จะมีการเซ็นสัญญาร่วมกันระหว่างกลุ่มซีพี.กับ รฟท. ที่จะมีขึ้น15ต.ค.นี้
ส่วนกรณีที่มีการระบุถึงว่าในการดำเนินการในโครงการร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาล หรือ PPP (พีพีพี)หากไม่มาดำเนินการตามกำหนดไม่ถือว่าเป็นผู้ทิ้งงาน หรือ แบล็กลิสต์นั้น ในเรื่องนี้ใน RFP ข้อ 56.3 ระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งไม่ไปทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จะถูกริบเงินหลักประกันซอง หรือ ถูกเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซองทันที และอาจพิจารณาให้ชดใช้ความเสียหายอื่น(ถ้ามี) รวมทั้งอาจพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้กาคืนหลักประกันซองไม่ว่าในกรณีใดๆจะคืนให้โดยไม่มีดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตามตนได้สั่งการให้นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือก โครงการฯ ที่ติดตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ไปพิจารณาข้อกฎหมายทั้งของ RFP และ ข้อกฎหมายของ การร่วมลงทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาล หรือ PPP ว่ามีระบุที่เกี่ยวเนื่องการดำเนินการร่วมกันอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความรอบคอบและความชัดเจน อย่างไรก็ตามจะมีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการฯติดตามโครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบินในวันนี้(9 ต.ค.)
“การที่นายธนินทร์ ออกมาแสดงความคิดเห็นดังกล่าว จะไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้มองว่าถือเป็นสิทธิของเอกชนที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาครัฐก็จะต้องมาดูว่าได้มีการดำเนินการตามกรอบของ RFP หรือ PPP อะไรที่จะทำได้ไม่ได้บ้าง เพราะภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและปฎิบัติตามกฎหมาย”…