- กรมศุลแจงหิ้วของมาขายต้องเสียภาษีทุกชิ้น
- เตือนต้องขอใบเสร็จเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง
- ชี้หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริตร้องเรียนได้ตลอด
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรณีมีผู้โดยสารโพสต์ข้อความลงสื่อโซเชียลสงสัยเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสำหรับการนำเข้าของติดตัวผู้โดยสารทางท่าอากาศยานนั้น กรมศุลกากร ขอชี้แจงว่า ผู้โดยสารจะได้รับยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวเพื่อใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท จะต้องไม่เป็นของต้องห้าม อาทิ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น ของต้องมีใบอนุญาต(ของต้องกำกัด) อาทิ อาวุธปืน พืช เป็นต้นและไม่มีลักษณะทางการค้า
ทั้งนี้หากผู้โดยสารนำของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาทหรือเป็นของที่มีลักษณะเชิงพาณิชย์ หรือ สินค้าเพื่อการค้าขาย แม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ของดังกล่าวเป็นของต้องเสียภาษีอากร ซึ่งผู้โดยสารสามารถมาสำแดงของเพื่อเสียภาษีอากร ที่ช่องตรวจมีของต้องสำแดง (ช่องแดง) และหากของนั้นเป็นของต้องกำกัด ของนั้นต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
สำหรับอัตราภาษีอากรนำเข้าจะแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น กระเป๋า 20% นาฬิกา 5% เครื่องสำอาง 30% เข็มขัด 30% เป็นต้น และสินค้าเหล่านี้จะต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) อีก 7% ด้วย โดยค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ คือ อากรขาเข้ารวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
“สำหรับใครที่กลัวว่านำเข้าสินค้าเพื่อมาใช้เองเป็นจำนวนมากจะถูกมองว่านำสินค้ามาขายนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่นำมาและปริมาณที่นำติดตัวเข้ามา ถ้าประมาณ 1-3 ชิ้น เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ คงไม่มองว่านำสินค้ามาค้าขาย แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายไม่ได้ระบุว่านำเข้าสินค้าปริมาณเท่าใดถึงจะถูกเรียกว่านำสินค้ามาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งตรงนี้จะอยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่”
โดยถ้าหากผู้โดยสารเสียภาษีสินค้าแล้วจะต้องได้รับใบเสร็จจากเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง ถ้าหากไม่ได้รับใบเสร็จจะถือว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบสามารถร้องเรียนได้ ส่วนใครที่ไม่ต้องการจะเสียภาษีนำเข้าสินค้าถ้าหากถูกเรียกเก็บภาษีสามารถยกสินค้าเหล่านั้นให้เป็นของรัฐบาลได้
“หากผู้โดยสารคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือพบเห็นเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางต่างๆ ได้แก่ โทรศัพท์สายด่วนรับเรื่องร้องเรียน1332 ร้องเรียนผ่านทาง Application LINE ID: @customshearing ร้องเรียนด้วยตนเองผ่านศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ตามโครงการ “ระฆังศุลกากร” ของแต่ละส่วนราชการที่ท่านใช้บริการ รวมถึงส่งไปรษณีย์มาที่กรมศุลฯ หรือส่ง E-mail มาได้ที่[email protected]”