

- คณะกรรมการ SEA รับสรุปไม่ทันผลศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา
- เหตุเพราะรายละเลียดเยอะ แถมติดช่วงเลือกตั้ง
- เผยเตรียมหาข้อสรุปยึดกรอบการศึกษาออกไปอีก


น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ที่ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.)ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มอาจจะต้องเลื่อนกรอบระยะเวลาศึกษาออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ 9 เดือน หลังจากลงนาม เมื่อเดือน ม.ค. 2562 หรือต้องศึกษารายละเอียดให้ครบทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ เนื่องจากภายใต้สัญญาจ้างระยะ 5 เดือนแรกหรือภายในเดือนพ.ค.จะต้องสรุปว่าในโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ควรมีการก่อสร้าง หรือไม่ซึ่งล่าสุดไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ทันตามกำหนด
“การศึกษาข้อมูลในระยะ 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ได้กำหนดว่าจะต้องลงไปรับฟังความเห็นจากประชาชนที่เดิมกำหนดไว้ในเดือน มี.ค. ซึ่งช่วงนั้นมีการเลือกตั้ง รวมถึงเดือนเม.ย.ก็ติดช่วงวันสงกรานต์ และการเตรียมข้อมูลพื้นฐานครั้งแรกต้องใช้เวลาจึงไม่สามารถสรุปได้ทันตามเวลาที่วางไว้” ทั้งนี้กรอบระยะเวลาศึกษา 9 เดือนที่ต้องศึกษาครอบคลุม 15 จังหวัดภาคใต้ จึงจะต้องเลื่อนออกไป ซึ่งคณะกรรมการฯจะต้องมาสรุปร่วมกับนิด้าอีกครั้งในเร็วๆนี้ และหากเลื่อนการศึกษาออกไป นิด้า ก็ต้องไปหารือกับสำนักงานกกพ.เพื่อชี้แจงเหตุผลและขยายสัญญาต่อไป


นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานร่วม SEA สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ กล่าวว่า สาเหตุที่การศึกษาในเรื่องดังกล่าวไม่แล้วเสร็จทันตามกำหนด เพราะคณะทำงานต้องใช้เวลาในการจัดทำรายละเอียดในการลงพื้นที่รับฟังความเห็นที่มีเนื้อหาจำนวนมาก ส่วนจะเลื่อนระยะเวลาออกไปเป็นเมื่อใด สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ในฐานะฝ่ายเลขาคณะกรรมการฯกำลังเตรียมสรุปเพื่อหารือต่อไป

