ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(14 ธ.ค.)ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” ซึ่งจัดโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักข่าวไทย อสมท ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข และถ่ายทอดสดผ่าน เฟชบุ๊กแฟนเพจ ทีม PR การรถไฟแห่งประเทศไทย , ช่องยูทูป การรถไฟแห่งประเทศไทย Official และเฟชบุ๊กแฟนเพจ สำนักข่าวไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาจจากทุกภาคส่วน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาบริหารจัดการเดินรถ และการจัดการรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งทุกครั้งที่มีการประชุม ไม่เคยมีการพูดว่าจะปิดหัวลำโพง แต่เป็นเพียงการลดบทบาทเท่านั้น โดยที่หัวลำโพงจะยังมีการเดินรถขบวนชานเมืองเข้าสูหัวลำโพงอยู่ ส่วนรถทางไกลจะสิ้นสุดขบวนที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าได้มีการเตรียมพร้อมการจัดการเดินรถ และความพร้อมด้านอื่นมาเป็นระยะเวลา 7 เดือน อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะนำผลการเสวนาวันนี้ไปประกอบการพิจารณา ก่อนถึงวันที่ 23 ธันวาคมนี้
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ยืนยันว่าการพัฒนาสถานีหัวลำโพง ไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพงแน่นอน และไม่มีการปิดสถานีหัวลำโพงแต่อย่างใด ทั้งนี้จะมีการลดบทบาทของสถานีหัวลำโพงลง เนื่องจากปัจจุบันมีการสร้างสถานีกลางบางซื่อเสร็จแล้ว ที่ผ่านมามีรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง 118 ขบวนต่อวัน ปัจจุบันจะมีการปรับขบวนรถไฟเหลือ 22 ขบวนต่อวัน เริ่ม 23 ธันวาคมนี้
สำหรับสาเหตุที่ลดบทบาทของสถานีรถไฟหัวลำโพง เนื่องจากโครงการรถไฟสายสีแดงถูกออกแบบตามแผนแม่บทกว่า 20 ปี เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นาน โดยรูปแบบการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงเป็นยกระดับรถไฟ เพื่อแก้ไขปัญหาลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด 27 จุด ซึ่งทั่วโลกไม่มีทางรถไฟที่มีจุดตัดรถไฟภายในใจกลางเมือง หลังจากก่อสร้างรถไฟสายสีแดงแล้วควรยกเลิกการใช้ไม่กั้น แต่ทางกระทรวงคมนาคมได้รับฟังภาคประชาชนควรมีไม้กั้นเพื่อให้บริการรถไฟชานเมืองบางเส้นทางที่เข้าสถานีหัวลำโพง ปัจจุบันมีการลดจุดตัดรถไฟแล้วอยู่ที่ 86% เหลือ 14 %
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ในอนาคตสถานีหัวลำโพงจะถูกลดบทบาทลง แต่ยังคงใช้ประโยชน์เป็นสถานีอยู่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนระบบรถไฟเป็นรถไฟฟ้า เนื่องจากจะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงในช่วงการก่อสร้าง 2-3 ปี ข้างหน้า อาจจะมีปัญหาขัดข้องอยู่บ้าง เพราะมีการเปิดหน้าดิน ส่วนกรณีการนำรถไฟทั้ง 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพง ยังมีความจำเป็น เนื่องจากพบว่าประชาชนที่ต้องใช้บริการรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพง 7,000 คน/วัน คิดเป็น 0.018% ของการเดินทางภายในกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่บางส่วนจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการจำหน่ายสินค้าโอทอป
“รถไฟบางขบวน จำนวน 118 ขบวน ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากผู้ที่ต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปต่างจังหวัดไม่มีความจำเป็นต้องหยุดขบวนรถไฟที่สถานีสามเสน,สถานียมราช โดยรถไฟทางไกลจะย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งสะดวกสบายต่อการเดินทางมากกว่า” นายพิเชฐ กล่าว
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รฟท.กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เต็มรูปแบบเมื่อ 1 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ขณะนี้พร้อมแล้วทที่จะรองรับการเดินทางของรถไฟระบบอื่น เช่น รถไฟทางไกลที่จะมาสิ้นสุดที่นี่ และได้เตรียมระบบเดินทางต่อเชื่อมไว้รองรับการเดินทางของประชาชนแล้ว
นางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการ รฟท. และรักษาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า เอสอาร์ที ตั้งตามมติ ครม. โดย รฟท.ถือหุ้น 100% เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ของ รฟท.ที่ไม่ใช่รางรถไฟ และยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้าบริหารที่ดินทุกแปลงของการรถไฟเพื่อเกิดรายได้และผลตอบแทนกับการรถไฟ ส่วนพื้นที่หัวลำโพง 120 ไร่ ในอนาคตจะการพัฒนาให้เป็นไปตามแนวทาง ทีโอดี เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้บริการและชุมชนโดยรอบ
ซึ่งแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพงเบื้องต้นจะมีความพิเศษกว่าที่อื่น เพราะเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มีสถาปัตยกรรม 5 จุดที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ได้แก่ 1.ช้างสามเศียร ซึ่งเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของการเดินรถไฟ 2.อาคารสถานีหัวลำโพง 3.อนุสรณ์ปฐมฤกษ์ เป็นจุดที่รัชกาลที่ 5 ปักหมุดรางรถไฟ 4.ตึกบัญชาการ และ 5.ตึกแดง โดยหลักการในการพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงในอนาคต ใช้คอนเซปต์ “คุณค่าพูน มูลค่าเพิ่ม” โดยจะเป็นการพัฒนาที่ผสมผสาน ในพื้นที่เน้นการเดินเท้า ใช้พลังงานสะอาด พร้อมปรับปรุงทัศนียภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว
นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ว่าการรถไฟควรออกมาชี้แจงด้วยตัวเอง เพราะที่ผ่านมากระแสข่าวออกมาสับสนทั้งข่าวการปิดหัวลำโพง และภาพอาคารสูง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ภาพการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพงให้มีลักษณะคล้ายทางเข้าห้างสรรพสินค้าหรู ซึ่งต่างกับการชี้แจงในวันนี้ โดยมองว่าปัญหาจะไม่เกิดหากมีการชี้แจง และต้องเป็นข้อเท็จจริง พร้อมระบุไม่เห็นด้วยที่จะงดเดินรถไฟสายยาว เพราะขณะนี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทั้ง กรุงเทพ-นครราชสีมา และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่คืบหน้า และต้องเห็นใจประชาชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายการเดินทางที่สูงขึ้น การจะหยุดเดินรถเข้าหัวลำโพง ก็ต่อเมื่อมีโครงข่ายรถไฟสายสีแดงครบถ้วนแล้ว เรียกร้องให้พูดความจริง รถไฟไม่ได้ทำให้รถติด อยากขอให้กระทรวงพิจารณาให้รอบคอบ
ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า กระแสและภาพข่าวที่เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเป็นการด้อยค่าหัวลำโพง ที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์แรกของการเปลี่ยนแปลงระบบรางไปสู่ความทันสมัย หากมีการเปลี่ยแปลงหัวลำโพง ก็ควรทำไปเพื่อประโยชน์ที่สนับสนุนการเดินรถ หน้าที่ของการรถไฟฯ คือการดูแลระบบการเดินทางด้วยรถไฟ ให้มีคุณภาพ สนับสนุนช่วยเหลือประชาชน และควรให้ความสำคัญกับการเดินทางเชื่อมต่อที่สะดวก ไม่ควรหยุดการเดินรถเข้าหัวลำโพง เพราะมีผลกระทบทั้งในเชิงธุรกิจ และเหมือนเป็นการด้อยค่ารถไฟ และหันไปหนุนรถไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงกว่า พร้อมคัดค้านการหยุดขายตั๋วจากสถานีหัวเมือง มายังสถานีหัวลำโพง โดยขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้รอบคอบเพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถไฟฯ
ขณะที่ ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล ระบุว่า ปัญหาที่เกิดเป็นเพราะการบริหารจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาที่ผิดพลาด โดยเฉพาะโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งเป็นโครงการที่ควรเกิดก่อน เพื่อเชื่อมการเดินทางสู่สถานีกลางบางซื่อ แต่กลับมีการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก่อน พร้อมย้ำไม่เห็นด้วยหากจะมีการปิดหัวลำโพง แต่ยอมรับได้หลังการรถไฟชี้แจงว่าป็นเพียงกาลดขบวนรถไฟข้าหัวลำโพง แต่ยังต้องจับตาว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร
เช่นเดียวกับ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ยังไม่เห็นด้วยกับการหยุดเดินรถเข้าหัวลำโพง เพราะจะกระทบกับผู้ใช้บริการ แต่หากในอนาคตมีการเชื่อมต่อการเดินทางที่ครอบคลุม และให้สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟและพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยลดจำนวนขบวนรถที่เข้าสถานีหัวลำโพงค่อยมาคุยกันในภายหลัง โดยวันนี้ (14 ธ.ค.) ได้นำรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยพร้อมหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าวยืนต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมระบุการนำภาระหนี้ในอนาคตมารวมกับหนี้ปัจจุบันแล้วบอกว่าการรถไฟฯมีหนี้ถึง 600,000 ล้านบาท ถือว่าไม่เป็นธรรมกับการรถไฟฯ และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยืนยันว่า หากการรถไฟ ฯ ลดจำนวนขบวนรถไฟเข้าหัวลำโพง และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ตนจะไปยื่นฟ้องแน่นอน การจะปิดหรือไม่ปิดหัวลำโพง ต้องทำประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ค่อนข้างสนับสนุนการย้ายศูนย์กลางระบบรางไปยังสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากพื้นที่มีความเหมาะสม และรองรับรถไฟได้หลายประเภท รวมถึง ทางคู่ และความเร็วสูง ที่ในอนาคตจะมีจำนวนเที่ยววิ่งเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญคือการเชื่อมต่อการเดินทางให้เกิดความสะดวก / แต่สิ่งที่กระทรวงคมนาคม จำเป็นต้องทำต่อคือการสร้างให้การเดินทางสะดวกขึ้น ดึงคนมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และต้องเร่งแก้ปัญหา โครงการ Missing Link ที่ล่าช้ามานาน ทำให้การเดินทางไม่เชื่อมต่อ
ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าการพัฒนาระบบรางเพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร เชื่อว่าเมื่อโครงการ Missing Link เสร็จสิ้น จะต้องมีการกำหนดราคาค่าโดยสารที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการได้ด้วย
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นหลังการเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนา ขอให้กระทรวงความนาคมชะลอการปรับลดขบวนรถเข้าหัวลำโพงจากวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบ