- หลังเริ่มหักเงินกู้กยศ.ผ่านเงินเดือนเป็นปีแรก
- ปี 62 หักได้แล้วจากบริษัทเอกชน-หน่วยงานราชการรัฐ 7,000 แห่ง
- มั่นใจมีเงินให้กู้ยืมโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมากองทุนได้รับชำระหนี้จำนวน 31,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา 20% ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติการณ์การรับชำระหนี้ของกองทุน โดยสาเหตุหลักมาจากผลการรับชำระหนี้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นปีแรกที่กองทุนเริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเพื่อชำระหนี้ผ่านองค์กรนายจ้างภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ส่วนราชการที่อยู่ในระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จำนวน 7,000 แห่ง
นอกจานี้ยังเป็นผลจากมาตรการชั่วคราว จูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชีโดยลดเบี้ยปรับ 85% สำหรับผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ ซึ่งมีผู้กู้ยืมเข้าร่วมมาตรการมากกว่า 40,000 ราย
“ต้องขอบคุณผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านที่ชำระเงินคืนเพื่อส่งมอบโอกาสให้รุ่นน้อง รวมถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างทุกแห่งที่ให้ความร่วมมือด้านการหักเงินเดือน โดยกองทุนจะนำเงินที่ได้รับชำระคืนมาใช้ในการสร้างโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และมั่นใจว่ากองทุนมีเงินเพียงพอให้กู้ยืมโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน”
สำหรับการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรกที่กองทุนไม่ได้จำกัดโควตาการกู้ยืมสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และขอยืนยันว่าผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จะสามารถกู้ยืมเงินเพื่อสร้างโอกาสได้ทุกคน โดยมีผู้ได้กู้ยืมแล้ว 534,704 ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 26,180 ล้านบาท ทั้งนี้ การให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2562 ยังไม่เสร็จสิ้น และในปีการศึกษา 2563 กองทุนจะเพิ่มค่าครองชีพให้กับผู้กู้ยืมทุกระดับอีกรายละ 600 บาทต่อเดือน
“ ปัจจุบัน กองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 5.64 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 607,491 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 838,521 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1.10 ล้าน ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.64 ล้านราย และผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 57,826 ราย”