- นายกฯให้ดีอีเอส-กสทช.หารือตั้งกรรมการ 5 จีแห่งชาติ
- รวมพลทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยี
- “ฐากร” ประเทศไทยช้าไม่ได้แล้วสิ้นปีมี42ประเทศปักเสาสัญญาณแล้ว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจารกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เห็นชอบตามข้อเสนอของกสทช. เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จีของประเทศไทย โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวง
ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)หารือกับกสทช. เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จี แห่งชาติ ซึ่งคาดว่ากสทช.จะหารือกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส เพื่อจัดหารายชื่อกรรมการ 5 จี แห่งชาติ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาในเร็วๆ นี้
“เรื่องการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จี เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันดำเนินงาน ไม่สามรถดำเนินการได้เองได้ ดังนั้นกสทช.และดีอีเอส จะสรรหากรรมการ มาร่วมกันทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันนานาประเทศ และจากการรายงานเบื้องต้น ขณะนี้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ 5 จี เพื่อทดลองทดสอบแล้วใน 26 ประเทศและภายในสิ้นปีนี้จะเพ่ิมเป็น 42 ประเทศ เพราะฉะนั้นประเทศไทย ช้าไม่ได้แล้ว ต้องเร่งดำเนินการโดยเร่งด่วน”
สำหรับขั้นตอนการทำงานของกสทช.นั้น จะลดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(ประชาพิจารณ์) เพื่อนำไปสู่การเปิดประมูลคลื่นความถี่ให้เร็วที่สุด โดยคลื่นที่จะนำมาประมูลเป็นอันดับแรกคือคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ถึงแม้ปัจจุบันจะอยู่ในการครอบครองของบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) แต่เชื่อว่าจะสามารถนำมาประมูลได้อย่างเร็วที่สุดปลายเดือนธ.ค. 62 หรือต้นม.ค.63 เพื่อให้ผู้ชนะประมูลติดตั้งเสาสัญญาณ 5 จี ได้ในเดืออนก.พ.63 ส่วนจะนำร่องในพื้นที่ใดนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เชื่อว่าจะเป็นการนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก รวมถึงการให้บริการสาธารณสุข หรือ สมาร์ท เทเล เฮลท์ ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก่อน เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการพัฒนาบริการ 5 จี
นายฐากร กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 62 ถือเป็นวันครบรอบ 8 ปี ของการทำงานของกสทช. โดยที่ผ่านมากสทช.ได้เปิดประมูลคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิตรซ์900 เมกะเฮิรตซ์ และ 700 เมกะเฮิรตซ์ รวม 280 เมกะเฮิรตซ์ สร้างรายได้ให้รัฐราว 417,507 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการจับจ่ายของผู้บริโภค และผลจากการประมูลคลื่นตั้งแต่ 3 จี 4 จี และกำลังจะสู่ยุค 5 จี ทำให้มีการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือ เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 53.7 ล้านเลขหมาย ในปี2557 เพิ่มเป็น 75.9 ล้านเลขหมาย ในปี2562 มีการใช้งานสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก 61 ล้านบัญชี ยูทูป 60 ล้านบัญชี และไลน์ 55 ล้านบาท