

- แต่สามารถปรับเพิ่มมาตรการตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสมได้
- ชี้ใครเดินทางต้องผ่านมาตรการคัดกรอง อธิบายเหตุผลและแสดงหลังฐานประกอบ
- วอนประชาชนเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคนด้วย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการต่างๆในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศจะต้องยึดกรอบข้อกำหนดของส่วนกลางและคำสั่งต่างๆ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นหลัก ส่วนความเข้มงวดต่างๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง โดยยึดการดูแลประชาชน และป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ทั้งนี้ในส่วนการเดินทางกลับต่างจังหวัดของประชาชนจำนวนมาก และแต่ละจังหวัดควรมีมาตรการอย่างไรนั้น นายฉัตรชัย กล่าวว่า เนื่องจากข้อกำหนดให้งด หรือ ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่คนที่มีความจำเป็น ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ผู้ที่เดินทางจะต้องอธิบายเหตุผล และมีหลักฐานประกอบแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู ทุกคนต้องผ่านจุดตรวจคัดกรอง ที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ
“การเดินทางข้ามจังหวัดจะถูกกักตัว 14 วันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ต้องดูเป็นรายกรณีไป คนที่ผ่านกระบวนการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้แล้ว จะมีใบรับรอง ในการเดินทางก็จะต้องแสดงหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ดู ซึ่งกรณีนี้จะไม่มีการกักตัวแน่นอน” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ประชาชนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น ภูเก็ต จะมีหลักฐานว่า คนเหล่านี้ได้กักตัวในพื้นที่ภูเก็ตมาแล้ว 1 เดือน จากที่จังหวัดห้ามเข้า-ออกพื้นที่ ซึ่งเสมือนเป็นการกักตัวมาแล้ว และการเดินทาง ผู้ว่าฯ ภูเก็ตต้องแจ้งไปยังจังหวัดปลายทางว่าจะมีประชาชนเดินทางไป และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานตามจุดต่างๆ ในการตรวจคัดกรอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวก ก็ให้เข้าใจและเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคนด้วย
ขณะที่ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม คณะรัฐมนตรีมีมติห้ามข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจลาหยุด ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อไม่ให้มีการเดินทาง ลดการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด