- เดือนส.ค.62เพิ่มแบบชะลอตัวที่0.52%
- ราคาอาหารสดพุ่งทั้งผัก-ผลไม้-ข้าวเหนียว
- แต่ราคาพลังงานดิ่ง-คาดทั้งปีโตไม่ถึง1%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนส.ค.62 ว่า เท่ากับ 102.27 สูงขึ้น 0.52% เทียบกับเดือนส.ค.61 แต่ลดลง 0.19% เทียบกับเดือนก.ค.62 ที่สูงขึ้น 0.98% ขณะที่อัตราเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 62 สูงขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนส.ค.61 เพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.61 และเพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.62 ขณะที่เฉลี่ย 8 เดือนเพิ่ม 0.55%
สำหรับเงินเฟ้อเดือนส.ค.62 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.63% สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้ ผักสด ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า จากปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์นม , อาหารบริโภคในและนอกบ้าน เป็นต้น ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.67% จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง และการขนส่งและการสื่อสารเป็นหลัก โดยในเดือนส.ค.62 พบว่า มีสินค้าราคาสูงขึ้น 221 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 89 รายการ และลดลง 112 รายการ
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการขยายตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด แต่สินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ราคาพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง คาดว่า เงินเฟ้อทั้งปี 62 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8-0.9% จากกรอบที่ 0.7-1.3%
“เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โดยไทยอยู่ที่ต่ำกว่า 1% ประเทศอื่นสูง 2-3% สะท้อนว่าคนไทยชะลอการใช้จ่าย อาจมีผลทำให้เศรษฐกิจทรงตัว แต่การที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นการเพิ่มเงินในระบบ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังยืนยันว่า แม้เงินเฟ้อขยายตัวต่ำ แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างที่กังวล”