ฝนฟ้าเจ้ากรรมตกไม่ถูกจุดท้ายเขื่อนสิริกิติ์แล้งหนัก!

  • น้ำในเขื่อนลดต่ำเกษตรกรเดือดร้อนหนัก
  • กรมชลฯตื่นจับมือ กฟผ.ระดมเครื่องสูบน้ำ
  • หวังแก้ปัญหาท้ายเขื่อนเพิ่มอุปโภค-บริโภค

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ว่า จากสภาพฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก      โดยปัจจุบัน(29 มิ.ย. 62) เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในอ่างฯเพียง 3,710 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 39 %ของความจุอ่างฯ และมีน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 860 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

ซึ่งจากสถานกาณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับอาคารระบายน้ำคลองสิงห์ ซึ่งใช้สำหรับส่งน้ำสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ของราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีจำนวนประมาณ 6,000 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 30,000 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอท่าปลา และอีก 3 ตำบลของอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ 

ดังนั้นทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนสิริกิติ์ จึงได้ให้ความช่วยเหลือโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังไฟฟ้าขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 62 เป็นต้นมา แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของราษฎร ในขณะเดียวกันกรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ ได้ประสานไปยังส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 3 นำเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งบริเวณจุดสูบน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ต.ท่าปลา อ.ท่าปลา 

และมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ขนาด 10 นิ้ว เพิ่มเติมอีก 4 เครื่อง เพื่อสูบน้ำไปช่วยเหลือราษฎรและพื้นที่การเกษตรดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 62 หรือจนว่าสถานการณ์ฝนจะเข้าสู่ภาวะฝนตกชุกตามฤดูกาลปกติ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือมีฝนตกน้อยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนให้มากที่สุดด้วย