บิ๊ก ททท.รอรัฐบาลใหม่ เคลื่อนนโยบายหนุนท่องเที่ยว 4 เรื่อง ขอทัพเสริมเที่ยวยั่งยืน-มาตรการเก็บค่าเดินทาง-55 เมืองรอง

  • บิ๊กททท.สะท้อนอุตฯท่องเที่ยวไทยหลังเลือกตั้งรอรัฐบาลใหม่หนุนภาคธุรกิจฟื้นขับเคลื่อนนโยบาย4เรื่อง
  • เสริมภาพลักษณ์ที่ดีปลดล็อกอุปสรรคต่างชาติเที่ยวไทยตอบโจทย์เอกชนถึงความต้องการแท้จริงทบทวนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน
  • ททท.พร้อมรับนโยบายทำงานเต็มที่และมี2เรื่องให้เคาะคือมาตรการเก็บค่าเดินทางต่างชาติกับลดเหลื่อมล้ำเที่ยวเมืองรอง55จังหวัด

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์เลือกตั้งครั้งใหม่ของไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เสร็จสิ้นลง ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อมเกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ยังอยู่ในช่วงจะต้องเดินหน้าฟื้นฟูทั้งจำนวนและรายได้การท่องเที่ยวกลับมาให้ได้มากที่สุด ใกล้เคียงกับปี 2562 เคยทำรายได้รวมทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศเกือบ 3 ล้านล้านบาทล่าสุดปี 2565 ททท.กับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนสามารถนำนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้แล้วเกือบ 10 ล้านคนยังคงน้อยกว่าปี 2562 ทำได้ถึง 40 ล้านคน ตอนนี้นักเดินทางส่วนใหญ่มีความมั่นใจเลือกมายังเมืองไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ

เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลงใหม่แล้วทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งประเทศ อยากจะเห็นการเปลี่ยนไปสู่ในสิ่งที่ดี ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำเนินอยู่ขับเคลื่อนอย่างมีพลังที่เข้มแข็งแข่งขันกับทั่วโลก ส่วน ททท.พร้อมรับนโยบาย และพร้อมทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนสอดคล้องกับนโยบายทางการเมืองจึงน้อมรับจะทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี

รวมทั้งหวังให้ “การเมืองใหม่” หลังเลือกตั้งพิจารณากำหนดนโยบายซึ่งสามารถจะตอบโจทย์ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนเพื่อฟื้นฟูรายได้เข้าประเทศให้ใกล้เคียงกับปีปกติให้ได้เร็วที่สุด เบื้องต้น 4 เรื่อง ประกอบด้วย

เรื่องที่ 1 ช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพราะก่อนโควิด-19 ไทยเองอาจมีภาพลักษณ์ไม่ดีบางเรื่องที่ทำให้นักท่องเที่ยวบางประเทศเกิดความกังวล แล้วปัจจุบันปรับปรุงให้ดีขึ้นมากแล้ว

เรื่องที่ 2 ปลดล็อกอุปสรรคการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งขณะนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 50,000 บาท/คน/ทริป หากเพิ่มจำนวนเข้ามามากขึ้น ก็จะผลักดันรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง ททท.เองมั่นใจแผนกลยุทธ์การกระจายรายได้ไปยังทุกภาคส่วนแล้ว จึงขอให้รัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยอีกทาง

เรื่องที่ 3 เครื่องมือที่รัฐบาลใหม่จะนำมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ขอให้พิจารณาถึงสาเหตุและความต้องการที่แท้จริง เช่น ต้นทุนการพัฒนาธุรกิจ ภาวะขาดแคลนแรงงานภาคบริการ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญส่งผลกระทบกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใช้จ่ายเงินในไทย ผนวกกับนักท่องเที่ยวยุคใหม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาให้ความสนใจท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สนองความต้องการยกระดับไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์กร หรือ Health and Wellness Hub ซึ่งเป็นตลาดคุณภาพใช้จ่ายเงินสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป

โดยเฉพาะท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่สนใจเที่ยวเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนั้น รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาเครื่องมือใหม่เข้ามาสนับสนุนความต้องการดังกล่าวให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างอุปทานใหม่นั่นคือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวด้วยการสนับสนุนทั้งดีมานต์และซัพพลายแบบครบวงจร

เรื่องที่ 4 ทบทวนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะต้องทำอย่างไร เพราะสิ่งสำคัญคือรัฐจะต้องกระจายสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ไทยตั้งเป้าเป็นประเทศจุดหมายปลายทางตลาดคุณภาพสูงต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ และยกระดับเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งไทยมีชื่อเสียงโดดเด่นติดอันดับต้น  ของโลกอยู่แล้ว

ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยองค์ประกอบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปัจจุบัน รัฐบาลใหม่สามารถทำได้ทันที คือสร้างภาพลักษณ์ที่ดี” ยกระดับคุณภาพและเพิ่มคุณภาพภาคการผลิตท่องเที่ยวหรือ supply side ให้เข้มข้นมากขึ้นและดูแลได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อผลักดันไทยเป็นเวลเนสฮับได้อย่างจริงจัง

ส่วน “มาตรการเชิงนโยบายภาครัฐ” ที่กำลังได้รับความสนใจก็จะต้องรอการตัดสินใจอีกครั้งหลังจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ได้แก่

เรื่องที่ 1 การเสนอจัดเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาท/คน/ครั้ง เรื่องนี้ได้นำเสนอต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตซึ่งจะต้องศึกษากันให้ชัดอีกครั้งถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับต่อไป ดังนั้นจะต้องรอดูรัฐบาลใหม่จะยังคงนโยบายนี้หรือไม่อย่างไร

เนื่องจากเงินที่เก็บได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเมืองไทย บางส่วนสามารถนำมาปรับปรุงทางซัพพลายไซด์ได้ยกเว้นรัฐบาลใหม่ประเมินผลตอนนี้ยังไม่จำเป็นแล้วสามารถทำระบบนิเวศน์ท่องเที่ยวอื่น  เข้ามาทดแทนได้ ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาพิจารณาต่อไป

เรื่องที่ 2 “สร้างความเท่าเทียมและเหลื่อมล้ำ” ทางการท่องเที่ยวของประเทศ นั่นคือ “การกระจายตัวของนักท่องเที่ยว” ปัจจุบันในเมืองท่องเที่ยวหลัก 22 จังหวัด มีรายได้ 80-90 % ส่วนเมืองท่องเที่ยวรองอีก 55 จังหวัด มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 10-20 % ฉะนั้นอาจจะต้องหันมาพัฒนาตลาด “ท่องเที่ยวเมืองรอง” อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ผนวกกับการทำ “นโยบายการเงินการคลัง” ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการลงทุนสร้างซัพพลายไซด์และเพิ่มดีมานต์หรือความต้องการจากตลาดนักเดินทางใหม่ได้ในบางช่วงเวลาเพื่อเติมเต็มในบางพื้นที่ให้เป็นไปได้นั่นเอง

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน#gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen