- ตั้งคณะทำงานร่วม “บีโอไอ-KOTRA”
- เพิ่มศักยภาพอุสาตหกรรมไทยมุ่งสู่ 4.0
- มั่นใจไทยเป็นประตูให้แก่อาเซียน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายการเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 6 ฉบับหลังให้การต้อนรับนายมุน แช-อิน (Mr. Moon Jae-in) ประ ธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่า การหารือในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคให้มากขึ้น รวมถึงการผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) ให้บรรลุข้อสรุปภายในปีนี้
สำหรับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ของประธานาธิบดีมุน แช อิน ที่ประกาศขยายความร่วม มือด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นนโยบายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยและอาเซียน ซึ่งหลายๆ ประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญและต้องการมหามิตรมาร่วมมือ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคต
“ในโอกาสที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้พานักธุรกิจกว่า 200 ราย มาเยือนเมืองไทยและร่วมงานสัมมนาในประเทศไทย จึงได้เชิญชวนให้ภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ที่มีศักยภาพมาลงทุนอีอีซี เช่น ในสาขายานยนต์ ดิจิทัล อุตสาห กรรมชีวภาพ (Bio-industry) โดยได้เห็นชอบร่วมกันที่จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรม การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของไทยกับสำนักงานส่งเสริมการค้าการลงทุนเกาหลี (KOTRA) เพื่อหารือกันในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างๆ ของเกาหลีใต้ในไทย ส่วนการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย –เกาหลีใต้ (KOTCOM) ที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเป็นประธานมีความ เห็นร่วมกันที่จะจัดการประชุมขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน”
นายมุน แช-อิน (Mr. Moon Jae-in) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า การเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ทางหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเตรียมความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมในอนาคต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเกาหลีใต้พร้อมผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ของไทยซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy –NSP) ของเกาหลีใต้
- การส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น โดยเห็นว่าความสัมพันธ์ของประชาชนเป็นวางรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองของประเทศทั้งสอง และ3. การกระชับความร่วมมือด้านสันติภาพและความมั่นคง โดยยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามความตกลงว่าด้วยการคุ้มครอบข่าวสารทางทหารที่มีชั้นความลับร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลี ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และของโลก
“การค้าขายระหว่างเกาหลีใต้กับไทย มีมูลค่าสูงถึง 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประชาชนทั้ง 2 ประเทศ มีการเดินทางระหว่างกัน 2.3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นคนเกาหลีที่เดินทางมาท่องเที่ยวและทำธุรกิจในไทยมากถึง 1.8 ล้านคน โดยมีบริษัทเกาหลีใต้เข้ามาเปิดกิจการและการลงทุนในประเทศมากกว่า 400 บริษัท”
สำหรับลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2.ความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาเกาหลี 3.ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทยและเกาหลีใต้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทหารระหว่างกัน 4.ความร่วมมือในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.ความร่วมมือด้านการขนส่งทางรางของทั้งสองประเทศ และ6.ความร่วมมือในสาขาการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ.
/////////////