วันนี้ (วันพุธที่ 4 กันยายน 2562) เวลา 09.30 น. ณ ห้องคริสตัล เอ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในการประชุมครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมหลายท่าน ได้แก่ รัฐมนตรีพลังงานจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา รองเลขาธิการอาเซียน ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นโอกาสให้ได้ต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่าน นายกรัฐมนตรีรู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งทำให้ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานอีกด้วย
พลังงานเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ และเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยที่โลกอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอลซิล สู่โลกที่เน้นการใช้เชื้อเพลิงสะอาด พลังงานหมุนเวียน และพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล และในขณะเดียวกันภูมิภาคอาเซียนของเรามีความต้องการพลังงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าพลังงานทดแทนจะเป็นพลังงานหลักต่อไปในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การพัฒนาตลาดพลังงานและการลงทุนด้านพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแห่งอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาค
รัฐบาลไทยมีแนวทางในการเปิดเสรีด้านพลังงานทั้งในส่วนของก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า โดยไทยได้รับการยอมรับในกลุ่มประเทศอาเซียนว่าเป็นผู้นำด้านแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ดี องค์ประกอบที่จะส่งเสริมให้เกิดพลังงานที่มีความมั่นคง ราคาเหมาะสม และยั่งยืน คือการสร้างระบบพลังงานที่มีความทันสมัย รองรับการผลิต และการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งสามารถรองรับการผลิตพลังงานแบบกระจายศูนย์ และพลังงานที่มีความเชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้บรรลุสู่ยุค 4.0 และยุค BCG (Bio – Circular – Green Economy Policy) หรือ ยุคของนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวนั่นเอง
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า “พลังงานเพื่อทุกคน” จะช่วยสนับสนุนแผนงานและเป้าหมายของภาครัฐให้บรรลุเป้าหมาย พร้อมทั้งสามารถที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ อย่างไรก็ดี การบรรลุเป้าหมายอาเซียนอาจยากที่จะประสบความสำเร็จหากขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราจึงจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานที่ก้าวหน้า และสะอาด ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของโครงการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนในระดับพหุภาคีระหว่าง สปป.ลาว – ไทย – มาเลเซีย ภายใต้โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน และประเทศไทยขอยืนยันที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเข้าสู่อนาคตพลังงานสะอาดของภูมิภาค เราจะยกระดับโครงข่ายพลังงานอัจฉริยะเพื่อเชื่อมต่อและบูรณาการระบบพลังงานในภูมิภาค และยกระดับการเป็นผู้เชื่อมโยงด้านพลังงานของภูมิภาคของไทย โดยนำแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ มาใช้ผ่านโครงข่ายอัจฉริยะความเร็วสูง เพื่อความมั่นคง ยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาค
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนและรองเลขาธิการอาเซียนได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในการจัดการพลังงานอย่างรอบคอบสร้าง “พลังงานเพื่อทุกคน” (Energy For All) และชื่นชมบทบาทของเวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานที่เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น โครงการ ASEAN power grid หรือโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ที่จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าอนุภาคีในภูมิภาค พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ IEA IRENA และ ERIA เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่อนาคตพลังงานสะอาด ซึ่งไทยพร้อมจะยกระดับโครงข่ายพลังงานอัจฉริยะบูรณาการระบบพลังงานในภูมิภาค
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีขอให้การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน รวมทั้งการประชุม ASEAN Energy Business Forum ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ส่งผลสำเร็จต่อการพัฒนา และยุทธศาสตร์ด้านพลังงานอย่างยั่งยืน