ถึงเวลาไทยทวงแชมป์ข้าวหอมมะลิโลกคืน



นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า จากกรณีที่ไทยเสียแชมป์ข้าวหอมมะลิโลกให้กับประเทศเวียดนามในการประกวดข้าวโลก 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ที่ผ่านมานั้น ในวันนี้จึงได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนของศูนย์วิจัยข้าวทุกแห่ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมถึงมีจุดแข็งและจุดเด่นอะไร

ทั้งนี้ในเบื้องต้นทราบว่าข้าวหอมมะลิที่ส่งประกวดครั้งนี้ผู้ที่ส่งข้าวไปทดสอบนั้นไม่ตรงตามสเปคที่ตกลงกันกับกรมการข้าว จึงถือว่าการประกวดครั้งนี้กองประกวดข้าวโลกยังไม่ได้รับข้าวที่ได้มาตรฐานของกรมการข้าวที่ตรงตามสเปค เชื่อว่าคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้ลดลง แต่การเสียแชมป์ครั้งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของคนไทย เพราะครองแชมป์มาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี

“ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้แพ้ แต่ผู้ที่ส่งข้าวไปไม่ตรงกับสเปคที่เตรียมไว้ ดังนั้น ปีหน้าจึงต้องเอาแชมป์กลับคืนมา โดยได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่ภาคอีสานไปศึกษาอย่างละเอียดว่าการประกวดมีข้อกำหนดอะไรบ้าง เช่น ความนุ่ม ความเหนียวรสชาติ กลิ่นหอม ตลอดจนวิจัยทุกด้าน ที่สำคัญต้องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้มีความยาวเพิ่มขึ้น ต้องไปวิจัยใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวหอมมะลิไทยคงคุณภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด” นายประภัตร กล่าว

นอกจากนี้ ให้ศูนย์วิจัยข้าวทุกแห่งตั้งแปลงทดลองปลูกข้าวหอมมะลินอกฤดู และจัดการการปลูกและธาตุอาหารตามเทคโนโลยีที่ได้จากแผนงานวิจัยการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย เพื่อทดสอบคุณภาพก่อนวันที่ 20 ธันวาคม 2562  โดยรายงานผลทุกสัปดาห์ พร้อมติดตั้งกล้อง cctv เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงตลอดการผลิต เพื่อให้ได้ข้าวเหนียวดีที่สุด กลิ่นหอมเก็บได้นาน อีกทั้งเป็นแปลงเรียนรู้ให้กับชาวนาและประชาชนทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ สิ่งสำคัญต้องทำให้เพิ่มผลผลิตด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยมีผลผลิต 362 กก./ไร่ จะทำอย่างไรให้ได้ 600 กก./ไร่ ศูนย์วิจัยข้าวต้องไปศึกษาต่อไป 

นายประภัตร กล่าวต่อว่า สำหรับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวในช่วงที่เกิดอุทกภัย จะต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ตลอด เนื่องจากสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปีนี้ฝนแล้ง น้ำท่วม ดังนั้น ศูนย์คัดเมล็ดพันธุ์ต้องเลือกคัดเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพเท่านั้น มีการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ตลอดจนขอความร่วมมือร้านค้าต่าง ๆ ให้ช่วยกันคัดเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้ชาวนาได้ใช้เมล็ดพันธุ์ดีนำไปเพาะปลูก ไม่ให้ชาวนาต้องเสียหาย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นมีพื้นที่ 261 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา มีวิสัยทัศน์เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาข้าวเหนียวคุณภาพดี เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่นยืน มีเป้าการผลิตปี 2561 พันธุ์คัด กข6 จำนวน 2.4  ตัน ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 2.4 ตัน พันธุ์หลัก กข6 จำนวน 20 ตัน ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 30 ตัน และเป้าการผลิต ปี 2562 พันธุ์คัด กข6 จำนวน 2 ตัน ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 3 ตัน พันธุ์หลัก กข6 จำนวน 20 ตัน ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 30 ตัน 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นมีภารกิจปรับปรุงพันธุ์ข้าว พัฒนาเมล็ดพันธุ์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยขอนแก่นมีพื้นที่นา 2,398,200 ไร่ (ปลูกข้าวเหนียว 1,662,000 ไร่ ข้าวหอมมะลิ736,200 ไร่) มหาสารคาม มีพื้นที่นา 2,169,899 ไร่ (ปลูกข้าวเหนียว 1,202,708 ไร่ ข้าวหอมมะลิ 967,191 ไร่) และกาฬสินธุ์ มีพื้นที่นา 1,464,187 ไร่ (ปลูกข้าวเหนียว 1,083,266 ไร่ ข้าวหอมมะลิ 380,921 ไร่) รวมพื้นที่ทั้งหมด 6,032,286 ไร่ ศูนย์แห่งนี้มีจุดเด่น คือ การปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนและนาชลประทาน ที่ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว 5 พันธุ์ คือ กข8 สกลนคร กข12 กข16 และ กข20 ตลอดจนมีการให้บริการเกษตรกรในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น ศูนย์บริการวิชาการด้านข้าว ศูนย์บริการชาวนา คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ฯลฯ เป็นต้น