บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดบ้านพาเยี่ยมชมโรงงานซีพีแรม(ลำพูน) เป็นโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทาน โดยชูนวัตกรรมกระบวนการผลิตอาหารพร้อมรับประทานมาตรฐานโลก รองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นในภาคเหนือ และช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและ การสร้างงาน สร้างรายได้ในภูมิภาคขณะเดียวกันยังได้เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่นและช่วยให้อาหารที่ผลิตออกจากโรงงานกระจายไปสู่ร้านค้าในเวลาสั้นลงจากเดิมต้องใช้เวลา 6 – 7 ชม. ลดเหลือ 2 – 3 ชม.เท่านั้น พร้อมเยี่ยมชมโครงการเกษตรกรคู่ชีวิตในพื้นที่ภาคเหนือ(ลำพูน) นับเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มีความมั่นคง และยั่งยืนให้แก่เกษตรกร
นายสาธิต แสงเรืองอ่อน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองสายงานยุทธศาสตร์องค์กร บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการเกษตรกรคู่ชีวิต ในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ และให้คำแนะนำในการเพาะปลูกกะเพรา การส่งเสริมการรับรองระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ตลอดจนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มีความมั่นคง และยั่งยืนให้แก่เกษตรกรในชุมชน รวมถึงการบูรณาการ องค์ความรู้ต่างๆ ในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
ซีพีแรมมุ่งเน้นการยกระดับ “ความดีคู่ความเก่ง” สู่ผู้บริโภคและสังคมอย่างยั่งยืนตลอด Supply Chain Management ด้วยแนวทาง 3S ได้แก่ Food Safety (ความปลอดภัยของอาหาร), Food Security (ความมั่นคงของอาหาร) และ Food Sustainability (ความยั่งยืนของอาหาร) ซึ่งโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับเกษตรกรผ่านการส่งเสริมการเพาะปลูกกะเพรา ซึ่งกะเพราเป็นวัตถุดิบหลักของสินค้า ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 มีความต้องการใช้ตลอดทั้งปีในปริมาณมาก จึงเป็นกิจกรรมหลักในการส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยกระดับเกษตรกร โดยมีกระบวนการส่งเสริมการเพาะปลูกกะเพรา โดยมีการถ่ายทอด และปฏิบัติตามมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี และเหมาะสม Good Agricultural Practice (GAP) การวางแผนเพาะปลูกร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย การจัดการระบบการบันทึกข้อมูลการเพาะปลูกด้วยระบบ Online เพื่อการตรววจสอบย้อนกลับ (Traceability) การจัดการผล หลังเก็บเกี่ยวโดยการตัดแต่งใบเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดการแปลงที่รักษาสิ่งแวดล้อมลดการใช้สารเคมีและลดของเสียจากแปลงเพาะปลูก
ทั้งนี้ ได้มีการขยายผลสู่พื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งมีเกษตรกรต้นแบบจังหวัดลำพูน ชื่อคุณภานุวัฒน์ วิชัยรัตน์ เป็นเกษตรกรบ้านหนองปลาขอ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งเดิมเกษตรกรได้ทำเกษตรกรรมโดยมีพื้นที่เพาะปลูก อยู่ที่บ้านหนอง ปลาขอ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ชนิดพืชที่ปลูก ได้แก่ ลำไย พริกไทย ข้าว เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และขาดตลาดที่รับซื้ออย่างต่อเนื่อง ซีพีแรมได้ลงพื้นที่และส่งเสิมให้เกษตรกรเพาะปลูก และตัดแต่งส่งใบกะเพรา เข้าไปในกระบวนการผลิตสินค้า มีการรับซื้อในราคาที่คงที่ และมีปริมาณรับซื้อสม่ำเสมอตลอดทั้งปี โ
ดย ซีพีแรมได้มอบต้นกล้ากะเพราที่ใช้ในการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 5,200 ต้น จากการดำเนินโครงการพบว่าอุปสรรคจากเกษตรกรที่ยังขาดความรู้ และประสบการณ์ในการเพาะปลูกพืชผัก และยังไม่มีระบบมาตรฐานรับรอง จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และพัฒนาการเพาะปลูกของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการบันทึกข้อมูล Online เพื่อติดตาม และควบคุมการเพาะปลูกให้เป็น ตามมาตรฐานที่กำหนด ยกระดับเกษตรกรจากการพัฒนาศาลาสวดพระอภิธรรมสู่พื้นที่ตัดแต่งวัตถุดิบ ที่ได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าใบกะเพราส่งเข้ากระบวนการผลิตของบริษัท การตัดแต่งวัตถุดิบเริ่มต้นที่ 8 กิโลกรัมต่อวัน
ปัจจุบันสามารถรองรับการผลิตได้ถึง 50 กิโลกรัมต่อวัน ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้การเพาะปลูก โดยใช้ Sensor ควบคุมการใช้น้ำอัตโนมัติ ส่งเสริมการรับรองระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสม (GAP) โดยปัจจุบันได้รับรองมาตรฐานการเพาะปลูก จาก กรมวิชาการเกษตร สร้างงาน และอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในชุมชน จำนวน 22 ราย เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร และจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน” เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทำให้มีอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืน