“ชูวิทย์”สอนมวยรู้ไม่จริงเรื่อง“คุก”อย่ามาสะเออะทำตัวรู้มาก…



จากกรณีที่มีข้อมูลจากเวทีเสวนาเรื่อง “การปฎิรูปกระทรวงยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ” ที่จัดโดยสถาบันปฎิรูปประเทศไทย ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลังรังสิต ที่นำอดีตผู้ต้องขัง พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย มาเล่าประสบการณ์ในเรือนจำ จนเป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงประเด็นสุดฮอต “การจัดงานวันเกิดในคุก”….

จนถึงขั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่เคยอนุญาตให้มีการจัดงานวันเกิด และไม่มีคุกวีไอพี ตามที่มีการวิพากย์วิจารณ์กันนั้น

ล่าสุด”นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์”อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ถึงกับทนไม่ได้ ที่ผู้ไม่รู้จริงออกมาพูดในเรื่องคุก จนต้องออกมาโพสต์เพชบุ๊กในบัญชีชื่อผู้ใช้ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์”..เล่าเรื่องราวถ่ายทอดประสบการณ์ตรงที่ได้เข้าๆ ออกๆคุก และ แจกแจงเรื่องคุก เรื่องตะราง ว่า….

เรื่องคุก เรื่องตะราง

ความจริง คือ ประสบการณ์

ผมมีประสบการณ์จากคุกมาหลายอย่าง โดนไป 3 หน ครั้งแรกปี 2546 ล่าสุดปี 2561 จนเอามาเล่าในหนังสือ “เหลี่ยมคุก” ขายดิบขายดี เพราะคนอยากรู้เรื่องในคุกแดนสนธยา

เคยเข้าไปตรวจคุกในฐานะ ส.ส. และเข้าไปติดคุกในสถานะนักโทษ แฉเรื่องคุก แล้วกลับไปติดอีก เข้าๆ ออกๆ หลายครั้งหลายครา จนผู้คุมระอา ถามว่า ชูวิทย์ จะกลับมาอีกไหม?”

ผมสรุปให้สั้นๆ ว่า ชีวิตในคุกจะต้อง “อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้” ถือเป็นคติประจำใจของคนคุก

เหตุที่เอามาพูดเพราะมีผู้ที่ “รู้ไม่จริง” ออกมาพูดเรื่องในคุก ทั้งที่ไปติดอยู่ในเรือนจำเพียง 2-3 เดือน ถึงกับเอามาเสวนาเรื่องคุก ว่ามีแดนวีไอพีบ้าง เลี้ยงวันเกิดในคุกบ้าง ล้วนแต่พูดไปด้วยความมันส์ตอนออกนอกคุก แต่ทำให้เดือดร้อนกันทั้งคุกเพราะความอยากดัง

ในคุกต้องมองทั้งด้านของผู้ควบคุม (กรมราชทัณฑ์) และด้านของนักโทษ จึงเล่าในฐานะศิษย์เก่า 3 รอบ หลายสถานะ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีเรือนจำอยู่ทั้งหมด 143 แห่ง พร้อมเหล่านักโทษหลากหลายประเภท ทั้งพวกประกันตัวไม่ได้ ไปจนถึงพวกนักโทษเดนนรก ร่วม 400,000 คน คิดดูว่าจำนวนผู้คุม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และงบประมาณ จะต้องมีเท่าไหร่? เพื่อให้เพียงพอต่อการควบคุมจำนวนนักโทษขนาดนี้

2. ในฐานะที่ผมเคยเป็น ส.ส. อยู่ในคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฏร พิจารณางบทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้เงินหลวงแม้แต่บาทเดียวก็ต้องผ่านคณะนี้ ไม่มีใครอยากอนุมัติเงินงบประมาณไปให้กรมคุก เพื่อไปลงทุนกับนักโทษ เพราะงบประมาณมีอย่างจำกัดจำเกี่ย จึงคิดว่า สู้เอาเงินไปให้พัฒนาประเทศ ช่วยฐานเสียง ดีกว่าไปให้คนคุกเป็นไหนๆ

เอาเฉพาะอาหาร 3 มื้อ ในแต่ละเรือนจำ ที่ต้องเลี้ยงคนคุก 400,000 คนต่อวัน แค่นี้ก็เป็นปริมาณมหาศาล จึงเหลืองบไปลงทุนพัฒนาเรือนจำได้น้อยนิด

3. กลุ่มคนที่ต้องพูดถึงคือบรรดาเจ้าหน้าที่เรือนจำหรือ “ผู้คุม” ข้าราชการเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอยู่กับนักโทษ เหมือนติดคุกตลอดชีวิต อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับคนคุก ไม่มีอะไรที่น่าอภิรมย์สักนิด แม้จะหมดเวรกลับบ้าน ก็อาจเอาโรคภัยไข้เจ็บจากคุกที่มีมาก ไปฝากลูกฝากเมียที่บ้านด้วย ไม่ว่าวัณโรค เอดส์ หรือโรคติดต่ออื่นๆ ได้เบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยเพียงน้อยนิดแค่พันกว่าบาทต่อเดือน

นักโทษที่อยู่ในคุก หากอยู่เป็น ต้องอย่าทำผิดระเบียบเรือนจำ เลี่ยงทำตัวเด่นดัง นิ่งให้ได้ ใจต้องเย็นที่สุด เพราะเดินมาถึงจุดตำ่สุดของชีวิตแล้ว

แต่ชีวิตของคนที่ติดคุกนานๆ หรือตลอดชีวิต อาจไม่มีความหมาย และผู้คุมคือผู้ที่ต้องรับความเสี่ยงตลอดช่วงเวลาที่เข้าเวรเฝ้านักโทษ

ผมเคยเข้าไปในคุก ด้วยสถานะกรรมาธิการตำรวจ ไปตรวจคุก ตอนนั้นท่าน นัทธี จิตสว่าง เป็นอธิบดี จนปี 2559 เข้าไปอีกครั้งในฐานะนักโทษ ได้อภัยโทษ 2 ครั้ง ออกมา และเป็นผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวในคุก จนได้กลับเข้าไปใหม่ในสถานะนักโทษอีก เมื่อปี 2561 เข้าๆออกๆ อยู่หลายสถานะ จึงเข้าใจหัวอกของทั้งสองฝั่งเป็นอย่างดี

ไม่ใช่ตอนอยู่ในคุก เป็นลูกแมวเซื่อง พอออกมาได้ก็ทำเป็นโวยวาย รู้มาก เดี๋ยวสักพักได้กลับไปอยู่ใหม่อีก แล้วจะจ๋อย

เรื่องคุก เรื่องตะราง มันไม่เข้าใครออกใคร มีสิทธิ์ติดกันได้หมด ตั้งแต่ยาจกยันรัฐมนตรี

และอย่าคิดว่า ออกมาแล้ว จะไม่ได้กลับเข้าไปอีก