“จุรินทร์”ยันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดนน้ำท่วมรัฐช่วยเหลือหลายเด้ง



  • ยันมีทั้งประกันรายได้ชาวนาที่จะเริ่มจ่ายส่วนต่าง15ต.ค.นี้
  • ยังมีเงินชดเชยความเสียหายที่รัฐจะจ่ายให้อีกไร่ละ1.1พันบาท
  • ส่วนพืชไร่-พืชสวนรัฐไม่ทิ้งจ่ายให้ด้วยไร่ละ1.1-1.6 พันบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการนำถุงยังชีพ 2,000 ถุงไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จ.อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.62 ว่า ตั้งใจมาบอกพี่น้องเกษตรกรเกี่ยวกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้กับเกษตรกร โดยยืนยันว่าเกษตรกรจะมีรายได้ 2 ทาง คือ 1.รายได้จากการขายข้าวตามราคาตลาด และ 2.เงินส่วนต่างที่รัฐบาลประกันให้โดยโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สำหรับการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละ 14 ตัน , ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละ 16 ตัน, ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละ 30 ตัน , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละ 16 ตัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากจะมีคำถามว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวแล้วเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติจนนาล่ม จะได้เงินส่วนต่างนี้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ และอาจมีคำถามว่าถ้าเกษตรกรปลูกข้าวเพื่อเก็บไว้กิน จะได้เงินส่วนต่างนี้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ แต่เกษตรกรจะต้องไปขึ้นทะเบียนก่อน โดยจะมีการจ่ายส่วนต่างล็อตแรกในวันที่ 15 ต.ค.62

“การโอนเงินส่วนต่าง จะเริ่มโอนเงินงวดแรกในวันที่ 15 ต.ค.62 จะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งรอบเก็บเกี่ยวไว้ ขอย้ำว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้และปลูกข้าวจริง ไม่ว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินส่วนต่างนี้แน่นอน และนโยบายประกันรายได้จะดำเนินการตลอดอายุรัฐบาลชุดนี้”นายจุรินทร์กล่าว

พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์ ได้ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการเสริมที่จะช่วยยกระดับราคาข้าวในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก โดยมีกระบวนการดูดซับผลผลิตมาเก็บไว้ เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกจนส่งผลกระทบถึงเกษตรกร และยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์จะช่วยเหลือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ชาวนา กลางน้ำ คือ โรงสี แปรรูป ปลายน้ำ คือ ผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม นอกจากเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้แล้ว รัฐบาลยังมีการชดเชยช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมข้าวพื้นที่การเกษตรอีก คือ ข้าว จะได้รับเงินชดเชย 1,113 บาท/ไร่, พืชไร่ 1,148 บาท/ต่อไร่, พืชสวน 1,690 บาท/ต่อไร่ โดยจะให้ชดเชยครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเพื่อช่วยเหลือประชาชน