- ”อุตตม” มั่นใจไทยยังมีโอกาสไต่อันดับขึ้น
- ก.พ.ร.ชี้ทุกส่วนราชการมุ่งสู่อิเล็กทรอนิกส์
- แนะประชาชน-ภาคเอกชนใช้บริการมากขึ้น
นายอุตตม สาวนายก รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการประเมินการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประ กอบธุรกิจประจำปี 2563 หรือ “Doing Business 2020” ซึ่งทางธนาคารโลก (world bank) จะประกาศผลในช่วงสิ้นเดือนต.ค.นี้ หลังจากตัวแทนจากธนาคารโลกได้เดินทางมาเก็บข้อมูลฝ่ายไทยทั้งภาครัฐและเอกชนไปแล้ว ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานที่มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นเลขานุการ รายงานว่า ในปีนี้ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับการจัดอันดับดีขึ้น
“ผมไม่ได้คาดหวังว่าการจัดอันดับปีนี้ จะดีกว่าปีก่อนเนื่องจากปีที่แล้ว ประเทศไทยปรับขึ้นจากอันดับที่ 40 กว่ามาอยู่ในอันดับที่ 27 เมื่อปี2562 จากทั้งหมด 190 ประเทศ โดยปี2562 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 3 ของอาเซียน สิงคโปร์ เป็น อันดับที่ 1 ของโลกและของอาเซียน มาเลเซียอยู่อันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับที่ 10 ของโลก นอกจากนี้การพัฒนาด้านต่างฯ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการก็มีการแข่งขัน และลงมือทำกันอย่างต่อเนื่องหลายประเทศ การได้รับจัดอัน ดับที่ดีขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด แต่จะได้รับการปรับขึ้นมากี่ขั้น ยังไม่ได้มีการประเมิน”
นางอารีย์พันธุ์ เจริญสุข รองเลขาก.พ.ร. กล่าวว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับการปรับอันดับขึ้นในปีนี้ เป็นไปได้สูงมาก แต่ปรับขึ้น 6-7 ขั้น มาอยู่อันดับที่ 20 ต้นๆ ได้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ แต่การมาเก็บข้อมูลของธนาคารโลกในรอบนี้ ก.พ.ร.ได้รายงานให้ทราบว่า ปัจจุบันการอำนวยความสะดวกของส่วนราชการไทยได้พัฒนาไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบหมดแล้ว แต่ผู้ใช้ หรือผู้รับบริการส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่นิยม โดยประเมินว่า อัตราการใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์บางรายการไม่ถึง 30% แต่บางอย่างมีปริมาณสูงมากกว่า 60-80%
สำหรับการปรับปรุงด้านบริการเด่นๆ ของส่วนราชการที่ได้ดำเนินการแล้ว และน่าจะเป็นจุดเด่นทำให้ธนาคารโลกปรับอัน ดับประเทศเพิ่มขึ้น เช่น การจดทะเบียนทรัพย์สิน กรมที่ดิน ล่าสุดเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อ ให้บริการได้เต็มทุกกว่า 400 แห่ง และที่สำคับผู้ประกอบการโดยไม่ต้องเรียกสำเนาเอกสาร
ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง กรุงเทพมหานครได้แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525 โดยนำการประเมินความเสี่ยงมาใช้จัดประเภทอาคารเพื่อบริหารจัดการในการควบคุมอาคาร สามารถลดจำนวนครั้งการตรวจอาคาร ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าผ่านแดนด้วยกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) ยกเลิกไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs ทำให้การนำเข้าและการส่งออกความรวดเร็วมากขึ้น
นางอารีย์พันธุ์ กล่าวว่า ด้านการชำระภาษี สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รวดเร็วขึ้นจากการนำเกณฑ์ความเสี่ยง มาใช้ในการตรวจสอบภาษี ทำให้สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายใน 90 วัน ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงได้มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับศาล (Court automation) เช่น ระบบการส่งเอกสารและการประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-Notice system) รวมถึงระบบเผยแพร่สืบค้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่สามารถค้นหาจากเลขคดี ชื่อข้อหา ชื่อหน่วยงาน หรือค้นหาตาม Keyword ได้ และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนทุกขั้นตอน เช่น แอปพลิเคชัน LED Property เป็นระบบการค้นหาทรัพย์ขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี ทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วขึ้นจากเดิมมีศาลที่สามารถดำเนินการได้ 3 แห่ง ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 40 แห่ง เป็นต้น .