ครม.เห็นชอบในหลักการให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ทำงาน 20 ปีขึ้นไป ถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชย 400 วัน



  • อายุงาน 10-20 ปีได้เงินชดเชย 300 วัน
  • แก้ไขให้เหมือนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยตั้งใจให้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงประกาศดังกล่าวโดยเร่งด่วน แต่ต้องผ่านกระบวนการตรวจแก้ร่างจากคณะกรรมการกฤษฏีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศกำหนดให้กำหนดให้ขยายสิทธิ์ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับสิทธิค่าชดเชย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (ปรับจากประกาศปัจจุบันให้เกิดความชัดเจน) และกำหนดให้ขยายสิทธิได้รับค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

นอกจากนี้ กำหนดให้ขยายสิทธิให้แก่ลูกจ้างผู้ได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน (เพิ่มเติมจากประกาศปัจจุบัน)