- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดจีดีพีปี 63 ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะโตต่ำกว่า 3.0%
- ปัจจัยลบจากต่างประเทศมีเพียบ-เงินบาทแข็งโป้ก
- พร้อมฟันธงดอกเบี้ยนโยบายปีนี้กนง.ลด1รอบปีหน้าลดอีก1รอบ
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2563) มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3 % เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ส่งผลให้การส่งออกยังหดตัว 2 % ขณะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าจากการเกินดุลการค้าของไทย และธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ยังคงลดอัตราดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า
“หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวสูงกว่า 3 % ภาครัฐจะต้องมีมาตรการการคลังเพิ่มเติม เพื่อรองรับความเปราะบางของเศรษฐกิจ เสนอแนะให้รัฐบาลเน้นไปที่การดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระถึงเอสเอ็มอีที่ยอดขายชะลอตัวลง หลังจากพบว่าเศรษฐกิจชะลอตัวกระทบเลิกจ้างมากขึ้น โดยจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย พบว่าสถานประกอบลดเวลาการทำโอที 8.9 % ชะลอรับพนักงานใหม่ 25.4 % และเลิกจ้าง 4.5 % โดยเฉพาะภาคการผลิต ส่วนมาตรการทางการเงินนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยอีกครั้งปีนี้ และ ปีหน้าลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง”
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณขยายตัว 2.8 % จากเดิม 3.1 % สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าคาด โดยหดตัวหลายกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาด ทำให้การส่งออกปีนี้มีโอกาสติดลบ 1 % ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ช่วยหนุนจีดีพีประมาณ 0.02 % เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยอยู่แล้ว
ด้านนายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ จะกระทบการส่งออกของไทยในปี 63 เพิ่มเติมอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ หลังต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์ผลกระทบไว้ที่ 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่ก็จะเน้นไปที่ธุรกิจที่ไทยเป็นฐานการผลิตเดิม ส่วนสถานการณ์ Brexit คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรคงต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal โดยขั้นตอนต่อไปคือการตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก