- ยื่น6ข้อเสนอรับให้รับไว้พิจารณา
- อัดยับ”กบง.”ชุดที่ผ่านมามีข้อน่าสงสัย
- สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก โดยไม่ประมูลไร้ธรรมาภิบาล
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน( ERS )เปิดเผยว่า กลุ่มฯเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจรวงศ์ รมว.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานที่สำคัญ 6 ประเด็นได้แก่ 1. การปรับโครงสร้างราคาพลังงานต่างๆ ที่ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2. เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน เพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค 3. ลดการแทรกแซงโดยมิชอบ และแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4. กระบวนการในการกำหนดนโยบาย ต้องมีความเหมาะสม 5. ทิศทางของการสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน และ 6. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และแก้ข้อสงสัยเรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชน ซึ่งบั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐ ให้เป็นวาระเร่งด่วน แม้ว่าการบริหารพลังงาน ที่ผ่านมาจะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาหลายด้าน ตามที่กลุ่มเคยเสนอไว ้แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่หากทิ้งไว้ จะทำให้มีความอ่อนแอลงและมีผลกระทบต่อความสามารถ ในการแข่งขันและฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทย อาทิ ธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่ยังมีจุดที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย เนื่องจากเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบายและการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ เช่นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ท่ีมีการอนุมัติต่ออายุและสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ในภาคตะวันตก 2 โรง ๆละ1400 เมกะวัตต์ แทนโรงเดียว ท่ีมีกำลังการผลิต 700เมกะวัตต์ ที่หมดอายุลงโดยไม่มีการประมูล
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี 2018 ) ขณะที่ ในส่วนของราคาพลังงาน ยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภท ในระดับสูง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วน และไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้นทุนการผลิตยังสูงเกินควร
ขณะที่ด้านธรรมาภิบาล กลุ่มฯ ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดูแลผลประโยชน์ของรัฐ ในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริง โดยเห็นควรเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ระบบผลิตไฟฟ้า จะเปลี่ยนแปลงสู่ระบบกระจายศูนย์อย่างรวดเร็วในอนาคต และส่งเสริมการผลิตเองใช้เองของผู้บริโภค (Prosumer) ด้วยการปรับโครงสร้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) โดยยังคงให้ควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และให้จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่นๆ ของ กฟผ. เป็นหน่วยงานอิสระเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชนที่เปิดกว้างและโปร่งใส อันจะเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต
“กลุ่มฯยังได้ เสนอให้เตรียมการเปิดให้บุคคลที่สาม ใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันโดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า (Retail Competition) โดยริเริ่มโครงการนำร่อง (sandbox) ให้มีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology เช่น Block Chain) เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น”