กระทรวงเกษตรฯตื่นช่วยชาวไร่ชาวนาให้ลืมตาอ้าปากเร่งวิจัยหาทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่



  • กระทรวงเกษตรฯ เร่งทำวิจัยด่วน
  • ค้นหาสารทดแทนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด
  • หลังพบยังไม่มีสารหรือวิธีการที่เหมาะสม

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง กรณีในปัจจุบันมีสารหรือวิธีการอื่นใดที่สามารถใช้ทดแทนสารไกลโฟเซตหรือไม่ ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้รายงานข้อเท็จจริงทางวิชาการ ว่า ยังไม่มีสารหรือวิธีการที่เหมาะสมที่สามารถทดแทนสารไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไฟริฟอส

ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งดำเนินการวิจัยเพื่อหาวิธีการแบบบูรณาการมาใช้ทดแทน โดยได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งต้องใช้เวลาในการวิจัยประมาณ 2 ปี จึงจะได้ข้อสรุปผลการวิจัยที่ชัดเจน และแม้ว่าจะมีการกล่าวว่าสารกลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม สามารถใช้ทดแทนได้ แต่ต้นทุนการใช้สารต่อไร่จะสูงกว่าการใช้สารพาราควอต และไกลโฟเซตประมาณ 3 เท่า และไม่สามารถควบคุมชนิดของวัชพืชได้จำนวนมากเท่ากับสารพาราควอต และไกลโฟเซต

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีข้อความสั่งการถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ให้ดำเนินการดังนี้ (1) เมื่อยังไม่มีสารเคมีหรือวิธีการอื่นใดมาใช้แทนได้นั้นให้เร่งทำวิจัยหรือประสานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อค้นหาสารหรือวิธีการอื่นใดมาใช้แทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยเร็วที่สุด และ (2) ส่วนอำนาจการเพิกถอน หรือห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น ได้พิจารณาตาม ม.25 แห่งพรบ.วัตถุอันตรายแล้ว กรมวิชาการเกษตรต้องไปสืบหาข้อเท็จจริง ทั้งจากเกษตรกรผู้ใช้หรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาหลักฐานให้ได้ว่าเมื่อใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วมีอันตรายจริงหรือไม่ หากพบว่าอันตรายจริงจะได้ใช้อำนาจสั่งเพิ่มเงื่อนไขการใช้ต่อไป”

เครดิตภาพจาก วิกิพีเดีย