กรมเจ้าท่าเดินหน้าปรุงแก้ไขกฎหมายการขนส่งทางน้ำ ปี 66มั่นในส่งเสริมพาณิชย์นาวีไทยรับการแข่งขันโลก

กรมเจ้าท่าเดินหน้าแผนปรับปรุงกฎหมายการขนส่งทางน้ำ ปี 66 มุ่งเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีของไทยให้สอดรับกับมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านการขนส่งทางน้ำ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดันร่างกฎหมาย สร้างความปลอดภัยในการจราจรและการขนส่งทางน้ำ เพื่อการดูแลด้านความมั่นคงของประเทศ

นายกริชเพชร ชัยช่วย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่า โดยสำนักกฎหมาย ได้เร่งกำหนดแผนพัฒนากฎหมาย การขนส่งและพาณิชยนาวี ประจำปี 66 เพื่อให้กำกับดูแลเป็นไปในทิศทางเชิงรุก ตามมาตรฐานสากล โดยกรมเจ้าท่าต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับข้อตกลงภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพการขนส่งกองเรือไทย และการบริหารจัดการท่าเรือให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และมาตรฐานการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกการบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในแผนพัฒนาปรับปรุงกฎหมายนั้น  ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับแผนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าในปี 66 ตามภารกิจหลัก คือการดูแล รักษาร่องน้ำทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ตลอดจนการควบคุมตรวจตรา ดูแลการคมนาคมและขนส่งทางน้ำทั่วทั้งประเทศ โดยกรมเจ้าท่าได้กำหนดแนวทางการพัฒนากฎหมายด้านการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และคำนึงถึงการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นยกระดับความความปลอดภัยในการจราจรและการขนส่งทางน้ำสร้างความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนั้นในการปรับปรุงจะอยู่ภายใต้ขอบเขตการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี มีพระราชบัญญัติที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย อาทิ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2566 เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา MARPOL Annex V (ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566) และที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6 ฉบับ รวมถึงพระราชกำหนด จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเรือไทย จำนวน 2 ฉบับ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ประกอบกับออกกฎหมายการรองรับการบริหารกองเรือไทย (คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2560)

นายกริชเพชร กล่าวต่อว่า ในส่วนของกฎหมายทั่วไป มีกฎกระทรวง ประกาศกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาทิ กฎกระทรวงค่าตอบแทนรายปีสำหรับผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ พ.ศ. 2563, กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจอดเรืออยู่เป็นการประจำในน่านน้ำหรือทำเลทอดสมอจอดเรือ พ.ศ. 2562, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกาศกำหนดสถาบันการตรวจเรือสำหรับเรือลำเลียง เป็นต้น