- หลังรายการลดหย่อนภาษี เอื้อประโยชน์คนมีรายได้สูง
- เร่งพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุนใหม่
- ชี้ต้องตอบโจทย์การออมระยะยาว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของแผนการปรับโครงสร้างภาษีตามนโยบายของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปศึกษาแนวนโยบายดังกล่าว โดยในส่วนของกรมสรรพากรนั้น โจทย์หลักที่นำมาศึกษา คือ เรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษี
“กรมสรรพากรตั้งโจทย์ตามนโยบายรัฐบาล โดยจะไปดูว่า มีภาษีอะไรที่เป็นปัญหาให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเท่าที่ดูภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยดูจากรายการที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี พบว่า ผู้ที่มีรายได้สูงจะได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยภาษีที่จัดเก็บตั้งแต่ 0-35% นั้น คนที่ใช้รายการลดหย่อนมากที่สุด คือ คนที่มีรายได้สูง ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่กรมสรรพากรจะต้องแก้ปัญหา”
ส่วนเรื่องกองทุนใหม่ที่จะนำมาใช้ลดหย่อนภาษีแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ที่จะหมดสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีปลายปีนี้ ขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งข้อดีของการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว คือ ช่วยในเรื่องตลาดทุน แต่ขณะนี้ตลาดทุนเติบโตขึ้นมากแล้ว ส่วนผลเสีย คือ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ คือ บุคคลที่มีรายได้สูงมาก ดังนั้น จึงจะต้องมีการปรับปรุง
สำหรับข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยที่เสนอให้ลดวงเงินลงทุนที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเหลือไม่เกิน 30 % แต่ต้องไม่เกิน 250,000 บาทต่อปีนั้น เป็นข้อเสนอที่ดีในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะคนชั้นกลางจะได้รับประโยชน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามการออกแบบกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีดังกล่าว จะต้องเป็นกองทุนที่ออมระยะยาวขึ้น เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงอายุของไทย
นอกจากนี้ในวันเดียวกันกรมสรรพากร ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เพื่อให้สตาร์ตอัพ( Start up)สายฟินเทค หรือ เทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาร่วมระดมสมองโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาบริการภาครัฐทางภาษีภายใต้โจทย์ “ภาษีไทย ให้ถูกใจประชาชน” โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 ก.ย. 2562 หลังจากนั้น กรมสรรพากรจะคัดเลือกแนวคิดที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน
” โครงการร่วมมือดังกล่าวภายใต้ชื่อ Hackatax เป็นการระดมสมองของสตาร์ตอัพไทยในการทำให้ การยื่นแบบเสียภาษีง่ายขึ้น และสามารถตรวจสอบได้เป็นธรรมมากขึ้น อย่างกรณีนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเก็บใบกำกับภาษีไว้ทุกเดือน เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากต่อเอสเอ็มอี ที่ต้องเก็บหลักฐานไว้ และอาจตกหล่นสูญหายจึงต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนายความสะดวก เช่น การสแกนใบกำกับภาษีเก็บไว้และส่งให้กรมสรรพากร หรือกรณีบุคคลธรรมดา กรมสรรพากร อาจให้เอกชนทำแพลตฟอร์มในการยื่นแบบเสียภาษี เพื่อแข่งกันอำนวยความสะดวก โดยเชื่อว่าหากระบบภาษีง่ายขึ้น คนจะเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น”