นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจุดแรกวัดกลางศรีไตรภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจประชาชน โดยย้ำว่าหน่วยงานต่าง ๆ จะบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จากนั้นเดินทางต่อไปยังศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาอุทกภัยของเทศบาลตำบลบ้านกอก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อมอบนโยบายการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งเยี่ยมประชาชนชาวอุบลราชธานีซึ่งเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างจากการที่น้ำลุ่มน้ำชีหลากลงมาสมทบกับแม่น้ำมูล
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 6 ลดการระบายน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางลุ่มน้ำชี เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัดขณะนี้ขอนแก่นและชัยภูมิสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว ส่วนมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดยังมีพื้นที่น้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำยังและลุ่มน้ำเสียวใหญ่ ที่ผ่านมาได้บริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยังที่ถูกน้ำท่วมสูง โดยเร่งระบายน้ำแม่น้ำชีให้มีระดับต่ำลง ลดปริมาตรน้ำแม่น้ำชีก่อนที่จะไหลไปลงแม่น้ำมูล ในขณะนั้นระดับน้ำแม่น้ำมูลยังต่ำสามารถรองรับน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลไปสมทบได้
ล่าสุดระดับน้ำลำน้ำยังมีแนวโน้มลดลงและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ลดลงเช่นกัน กรมชลประทานเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งน้ำจากลุ่มน้ำเสียวใหญ่ ลุ่มน้ำยัง และแม่น้ำชีจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อุบลราชธานี แล้วลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวให้บรรเทาลง ดังนั้น จึงกำชับให้ดำเนินมาตรการชะลอน้ำเริ่มตั้งแต่แม่น้ำชีตอนบนจังหวัดชัยภูมิ โดยให้อัดลมเข้าฝายยางทั้ง 3 แห่งในแม่น้ำชี ได้แก่ ฝายยางบุตามี แก้งสนามนาง และกะฮาดน้อย เพื่อเก็บกักน้ำและชะลอการไหลของน้ำ จังหวัดขอนแก่นลดการระบายน้ำที่ ปตร.D8 ห้วยพระเพื่อไม่ให้น้ำไหลลงลำน้ำพองที่จะไปลงแม่น้ำชี
ส่วนอ่างฯ ขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดรวม 69 แห่งได้ปรับลดการระบายน้ำในอ่างที่น้ำไม่เกินระดับเก็บกักซึ่งมีอยู่ 49 แห่ง และจะทยอยลดการระบายน้ำลงตามสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังควบคุมการระบายน้ำในเขื่อนที่อยู่ในแม่น้ำชีตอนบน เช่น เขื่อนชนบท เขื่อนวังยาง เขื่อนมหาสารคาม รวมถึงหยุดระบายน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,386.30 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70.02% และมีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่องประมาณวันละ 50-80 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 500,000 ลบ.ม. เป็นวันละ 300,000 ลบ.ม. และปรับลดการระบายน้ำผ่านฝายหนองหวายจากเดิมวันละ 450,000 ลบ.ม. เหลือวันละ 200,000 ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเสียวใหญ่ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ปิดการระบายน้ำที่ทางระบายน้ำใต้อ่างของอ่างเก็บน้ำหนองบ่อ อีกทั้งปิดการระบายน้ำผ่านบานระบายตามฝายต่าง ๆ ในเขตอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม 6 แห่งเพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลไปสมทบแม่น้ำมูล
“มาตรการการทั้งหมดนี้จะลดปริมาตรน้ำไม่ให้ไหลไปเติมพื้นที่ตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมมากขึ้น ขณะนี้น้ำส่วนใหญ่ไหลลงพื้นที่ตอนล่างเป็นน้ำค้างทุ่งที่ไหลบ่าลงไปตามทิศทางการไหลของน้ำ ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้ หากน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่งของลำน้ำแล้วจะสามารถควบคุมการไหลให้ลดลง เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างน้อยที่สุด”