- กันไม่ให้ยุ่งพื้นที่ป่าหรือใกล้แม่น้ำ ชี้คนคัดค้านไม่ใช่ตัวจริงในพื้นที่
- อนุมัติตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีประมูลท่าเรือแหลมฉบัง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ชุดใหม่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า กพอ.เห็นชอบความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุธรณ์คำสั่งทางปกครอง ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ที่ยืนความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ไม่รับพิจารณาผู้ร่วมประมูล กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท PHS Organic farming จำกัด และบริษัท China Railway construction Corporation จำกัด จึงเหลือผู้ร่วมประมูลรายเดียว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีทีทีแทงค์ เทอร์มินัลจำกัด และChina Harbour engineering Company Limited
ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ เปิดเผยว่า กพอ.เห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และ (ร่าง) แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตในระยะ 20 ปี (2560 – 2580) มีพื้นที่ 8,291,250 ไร่ โดยในปี 2560 มีประชากร 4,015,168 คน และคาดว่าในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 6,006,380 คน
“การจัดทำผังเมืองครั้งเป็นดำเนินการภายใต้กฎหมายอีอีซี จากนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และจะไปทำเป็นผังเมืองย่อย แยกเป็น 30 อำเภอใน 3 จังหวัด ตามหลักการของกฎหมายผังเมือง โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 8.29 ล้านไร่ ส่วนที่มีผู้มาคัดค้านจาก ต.เขาดิน จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ใช่คนในพื้นที่ และยืนยันว่าการจัดผังเมืองครั้งนี้ดูอย่างรอบคอบไม่ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน มีพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 1.99% หรือ 165,085 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชลบุรีและระยอง ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมส่วนที่ฉะเชิงเทรามีเพิ่มขึ้นนิดเดียวและในพื้นที่ยอมรับและเข้าใจ มีการปกป้องพื้นที่ป่า และได้ยกพื้นที่ชุมชนชนบทให้เป็นชุมชนเมือง 673,743 ไร่ เพิ่มขึ้น 3.3% และอีก 3% กันเป็นพื้นที่พัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้แม่น้ำ จะกันอุตสาหกรรมออกไปทั้งหมด”
โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่พัฒนาเมือง ประกอบด้วย ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม ที่ดินประเภทชุมชนเมือง ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 2.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม 3.พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฏีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 4.พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม
ส่วน (ร่าง) แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค กรมโยธาธิการฯ ได้ดำเนินการจัดทำแผนผังฯ จาก 8 ระบบ เป็น 5 แผนผัง และ 1 มาตรการ ประกอบด้วย 1.แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบควบคุมมลภาวะ ส่งเสริมระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะที่ไม่ส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง 2.แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง รองรับความต้องการการเดินทางและการขนส่งสินค้าในอีอีซี ในอนาคตอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 3.แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม เพื่อแสดงบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ชุมชนดั้งเดิม ย่านชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษ พร้อมสร้างสมดุลชุมชนเมืองและชนบท คู่กับอนุรักษ์ย่านชุมชนที่มีคุณค่า 4.แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ รองรับความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงเหมาะสมเพียงพอ พัฒนาระบบระบายน้ำ ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ 5.แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี และวัตถุอันตรายจากการจัดเก็บ ผลิต และการขนส่ง ส่วน 1มาตรการ คือระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและการประกอบกิจการพิเศษ บริหารจัดการขยะ ของเสีย พลังงาน ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูง