- ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
- การนำของเสียในกระบวนการผลิตโลหะตะกั่ว
- กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน มูลค่า250ล้านบาทต่อปี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เปิดตัวโครงการด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรม ระหว่าง กพร. และ บริษัท เบอร์กโซ่ เมตัลส์ จำกัด ท่ีเป็นบริษัทไทยท่ีมีผู้ถือหุ้นชาวจีนโดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การนำของเสียในกระบวนการผลิตโลหะตะกั่ว กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน โดย เบอร์กโซ่ฯ จะ เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล และนวัตกรรมวัตถุดิบ ที่ กพร. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การต่อยอดผลงานวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
นายโกวเซิ่ง หลี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบอร์กโซ่ เมตัลส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการตะกรัน ที่เกิดจากการหลอมถลุงตะกั่ว จากเศษแบตเตอรี่เก่า ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตโลหะตะกั่ว ที่ต้องส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ และมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดปีละหลายล้านบาท จึงมีแนวคิดนำของเสียดังกล่าว กลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของ กพร. ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ตะกรันจากการหลอมถลุงตะกั่วที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่ เป็นเหล็กออกไซด์มาผลิตเป็นเหล็กถลุง จึงสนใจทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ กพร.
ท้ังนี้ จากการศึกษาพบว่า มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ ในการเพิ่มมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิตโลหะตะกั่ว โดยการนำตะกรัน จากการหลอมถลุงตะกั่วที่มีองค์ประกอบ ของเหล็กออกไซด์เป็นวัตถุดิบร่วมกับแร่ควอตซ์ ที่มีองค์ประกอบของซิลิกอนไดออกไซด์ เพื่อผลิตเป็นเฟอร์โรซิลิกอน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงอุตสาหกรรมการหล่อโลหะต่าง ๆ โดยปัจจุบันประเทศไทย ต้องนำเข้าเฟอร์โรซิลิกอนจากต่างประเทศ ผนวกกับมีแร่ควอตซ์คุณภาพปานกลางจำนวนมาก ที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มมูลค่า จึงนำวัตถุดิบทั้งสองมาใช้ร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้
สำหรับการดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้ ผลการทดลองพบว่า สามารถนำตะกรันจากการผลิตตะกั่วและแร่ควอตซ์คุณภาพปานกลาง มาผลิตเฟอร์โรซิลิกอนที่มีคุณภาพดีระดับที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้ และมีความเป็นไปได้สำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่แหล่งแร่ภายในประเทศ รวมถึงของเสียจากภาคอุตสาหกรรม และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหการ ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าโดยรวม ให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตโลหะตะกั่ว ของประเทศไทยที่เกิดขึ้นปีละ13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 250 ล้านบาทต่อปี