กนอ.-เอสซีจี ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

  • เปิดตัวโครงการ“อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์”
  • เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้ประกอบการ
  • ย้ำต้องตระหนักถึงปัญหามลพิษจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม พร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต

          น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย ว่า กนอ. และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด (SCG) ได้ร่วมกัน ลงนามความร่วมมือเพื่อแสดงเจตจำนงด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และเปิดโครงการ “อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์” เพื่อส่งเสริมความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการพัฒนากระบวนการผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดกากอุตสาหกรรมและนำกลับไปใช้ใหม่ ตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy )ให้กับผู้ประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนรอบพื้นที่นิคมฯและพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกให้มีการบริหารจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

           “ปัจจุบันปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม   ยังมีการบริหารจัดการยังไม่ถูกวิธี และมีกากอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(อีอีซี )และโครงการ “อีโค่ เวิลด์ คลาส วิธ เซอร์คูล่า อีโคโนมี คอนเซ็ปต์” เป็นการใช้ ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนเป็นพลังไฟฟ้า   ที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาในพื้นที่ท่าเรือเฉพาะกิจมาบตาพุด จังหวัดระยอง  ที่จะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้ “

                  นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า นิคมฯมาบตาพุด จังหวัด ระยอง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่นี้มีปริมาณ กากอุตสาหกรรมจำนวนมาก   เอสซีจี ซิเมนต์ ในฐานะผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรม ด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์  จึงนำมาพัฒนาต่อยอด ยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยได้ร่วมกับกนอ.  และจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มาใช้ในโรงงานแห่งนี้ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกำจัด กากอุตสาหกรรม  

             ท้ังนี้   กระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะเป็นแบบระบบปิด มีระบบควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับกากอุตสาหกรรม  จากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะ  ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้สามารถกำจัด กากอุตสาหกรรม 65,000 ตันต่อปี