- จากเดิมตั้งเป้าขยายตัว3.3%
- เหตุสารพัดปัจจัยเสี่ยงโหมกระหน่ำ
- ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอ
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยว่าที่ประชุม กกร. มีมติปรับลดประมาณการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.7-3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.9-3.3%ขณะที่ การส่งออกคาดการณ์ว่าจะติดลบ 2-0% จากเดิมคาดติดลบ 1 ถึงโต 1% และเงินเฟ้อคงอยู่ที่ระดับ 0.8-1.2% หลังจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงต่อเนื่องอย่างชัดเจน เป็นการอ่อนแรงที่ต่อเนื่องจาก2ไตรมาสแรกของปีนี้
นายกลินท์ กล่าวว่า การอ่อนแรงของสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยดังกล่าว เนื่องจากภาวเศรษฐกิจไทยมีปัจจัย เสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกยังคงหดตัวเป็นวงกว้างทั้งรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลักของไทยในทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ทั้งหมดนี้ยัง มีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อยาวนาน ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศก็ยังอ่อนกำลังลง ทั้งการบริโภคและการลงทุน มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ3ไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆด้าน เช่น มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และชิม ช้อป ใช้ที่ประเมินว่าจะเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 30,000 ล้านบาท แต่กกร.คาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ประมาณ 0.1-0.2%
“ภาคเอกชนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากรัฐบาลเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อรับมือกับความท้าทาย ที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป “
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งคาดว่า จะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 25,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร และจากการหารือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องการให้ภาครัฐลดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) งดการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นทุกชนิด เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีป้ายเป็นเวลา 1 ปี ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ขณะเดียวกัน ยังต้องการขอให้รัฐบาลลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีในพื้นที่ประสบภัยที่ยังมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน และขอให้รัฐสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีเงินทุนหมุนเวียน เพื่อซ่อมแซมเครื่อจักรและฟื้นฟูสถานประกอบการ ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% หรือต่ำกว่าเป็นเวลานาน 2 ปี ขณะที่ภาคเอกชนจะช่วยเหลือเรื่องวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น